บริทนีย์ บราวเวอร์ เติบโตขึ้นมาในเมือง Inupiat ซึ่งชาวเมืองส่วนใหญ่เป็นชาวเอสกิโมทางตอนเหนือของอลาสก้า แต่ภาษาอังกฤษกลับเป็นภาษาเดียวที่คนที่นั่นใช้กัน
บริทนีย์ได้รู้จักภาษา Inupiaq เพียงผิวเผิน จากการเรียนภาษาในวัยเด็กที่โรงเรียนในชุมชนเมือง Utqiagvik เธอได้ตีพิมพ์สมุดภาพระบายสีที่เป็นภาษา Inupiaq เมื่อปีที่แล้ว เป็นภาพของสัตว์ในท้องถิ่น เธอหวังว่าสักวันจะสามารถพูดภาษานี้ได้อย่างคล่องแคล่วโดยการฝึกใช้ภาษาของบรรพบุรุษของเธอเป็นประจำทุกวัน
หญิงสาวอายุ 29 ปีเริ่มต้นทำเช่นนั้นได้จากการเพิ่มตัวเลือกภาษา Inupiaq สำหรับผู้ที่ใช้เครื่องมือการแปลของ Facebook ซึ่งเปิดตัวเมื่อสิบปีที่แล้ว เครื่องมือการแปลนี้ช่วยให้ผู้ใช้สามารถแปลบุ๊กมาร์ค ปุ่มการทำงาน และฟังก์ชั่นอื่นๆ ในกว่า 100 ภาษาทั่วโลก
ปัจจุบัน Facebook ถูกแปลเป็นภาษา Inupiaq แต่แปลเฉพาะบนเว็บไซต์เท่านั้น ยังไม่มีการแปลบนแอพพลิเคชั่น
บริทนีย์ บอกว่า เธอตื่นเต้นมากตอนที่ลองใช้เครื่องมือการแปลภาษานี้เป็นครั้งแรก ตอนนี้คำศัพท์ต่างๆ ในภาษา Inupiaq จะถูกทยอยเพิ่มเข้ามา ซึ่งเธอคิดว่าจะนำพจนานุกรมภาษา Inupiaq มาใช้เพื่อเรียนรู้คำศัพท์ต่างๆ ด้วย
คุณ Arielle Argyres โฆษกของ Facebook กล่าวว่า นอกจากตัวเลือกภาษา Inupiaq แล้ว ภาษา Cherokee และภาษา Inuktut ของชนเผ่าพื้นเมืองในแคนาดา ยังเป็นภาษาพื้นเมืองอื่นๆ ที่กำลังถูกแปลด้วยเช่นกัน
เธอกล่าวว่า การมีภาษาพื้นเมืองเหล่านี้บนอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเราไม่สามารถพบเห็นภาษาเหล่านี้ได้ทั่วไป และโดยมากจะถูกถ่ายทอดผ่านทางประเพณีวัฒนธรรม ดังนั้นการที่โลกดิจิตอลสามารถแปลภาษาเหล่านั้นได้จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก
ภาษา Inupiaq ใช้พูดกันทางภาคเหนือของอลาสก้าและแถบคาบสมุทร Seward ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยอลาสกาแฟร์แบงค์ ระบุว่า ชาว Inupiat ราว 13,500 คนอาศัยอยู่ในอลาสก้า แต่มีเพียงประมาณ 3,000 คนเท่านั้นที่พูดภาษานี้ได้
Facebook เปิดพอร์ทัลการแปลภาษาเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 2017 โดยผู้เชี่ยวชาญภาษาท้องถิ่นเห็นว่า Facebook เป็นย่างก้าวเล็กๆ ที่จะช่วยไม่ให้ภาษาพื้นเมืองของชาวอลาสก้าต้องสูญหายไป