ในอดีต รัฐบาลออสเตรเลียเคยจงใจที่จะกำจัดภาษาชนพื้นเมืองในประเทศให้หมดไป โดยมองว่าภาษาชนเผ่าของออสเตรเลียต่ำต้อยกว่าภาษาอังกฤษ
ย้อนไปในตอนที่ชาวอังกฤษเข้าไปตั้งถิ่นฐานในออสเตรเลียในราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 มีภาษาชนพื้นเมืองอยู่ถึง 250 ภาษา เเต่มาในปัจจุบัน มีภาษาชนพื้นเมืองหลงเหลืออยู่เพียงเเค่กึ่งหนึ่งเท่านั้น
บรรดานักรณรงค์กล่าวว่า การกอบกู้ภาษาชนพื้นเมืองออสเตรเลียไม่ได้เป็นการย้อนอดีต เเต่เป็นการอนุรักษ์ความภูมิใจทางวัฒนธรรม เเละความเป็นเอกลักษณ์ของชาวอะบอริจิน
Sarah Mitchell รัฐมนตรีด้านกิจการชนเผ่าอะบอริจิน เเห่งรัฐนิวเซาท์เวลส์กล่าวว่า กฏหมายใหม่ที่ออกมาบังคับใช้จะช่วยให้ภาษาและวัฒนธรรมชนพื้นเมืองได้รับการดูแลเเเละฟื้นฟูขึ้นมาใหม่
กฏหมายใหม่เหล่านี้จะร้องขอให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญทางภาษาชนพื้นเมืองช่วยให้คำเเนะนำด้านนโยบายของทางการ เเละยังจะมีการตั้งศูนย์เพื่อความยอดเยี่ยมเเห่งใหม่ขึ้นมารองรับอีกด้วย
Ray Kelly นักวิชาการด้านภาษาชนพื้นเมืองอะบอริจิน ที่มหาวิทยาลัย New Castle ในออสเตรเลีย กล่าวว่า นี่เป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญมาก เพราะคนในออสเตรเลียได้ถกกันมานานแล้วถึงสิทธิ์ทางภาษา เเละการปกป้องภาษาชนเผ่าอะบอริจิน
เเต่บรรดาคนชาวพื้นเมืองสูงวัยต่างเตือนว่าไม่ควรใช้อำนาจของตนมากเกินไปในการควบคุมการอนุรักษ์ภาษาชนเผ่า
Murray Butcher กล่าวว่าสำคัญมากที่อำนาจในการอนุรักษ์อยู่กับชุมชนของชนพื้นเมือง ไม่ใช่รัฐสภา ออสเตรเลียควรเริ่มต้นทำในสิ่งที่ถูกต้องเสียที
เเละช่วยกันอนุรักษ์ภาษาพื้นเมืองของประเทศ มอบอำนาจให้กับประชาชนทำหน้าที่ปกป้องรักษาภาษาพื้นเมืองของพวกเขา เเละให้อำนาจคนพื้นเมืองมีสิทธิ์ในการตั้งเป้าหมายอนาคตของตนเอง
ภาษาชนพื้นเมืองอะบอริจินมีอายุย้อนไปนับหลายพันปี เเละไม่ได้ใช้เป็นเพียงเเค่เครื่องมือในการสื่อสาร เเต่สะท้อนถึงความเชื่อและธรรมเนียมโบราณ และเป็นส่วนสำคัญมากของประวัติศาสตร์ที่ยังคงอยู่ของคนออสเตรเลียชนเผ่าอะบอริจิน
คนออสเตรเลียเชื้อสายชนพื้นเมืองถูกเรียกว่า First Nations people นับเป็น 3 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดของออสเตรเลีย คนชนเผ่าอะบอริจินประสบกับปัญหาทางสุขภาพมากกว่าคนออสเตรเลียผิวขาว มักเสียชีวิตก่อนวัย ประสบปัญหาว่างงานสูง และมีจำนวนมากที่ถูกจองจำในคุก
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)