มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของบริษัทเทคโนโลยี เฟสบุ๊ค (Facebook) ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น เมตา (Meta) ในความพยายามส่งเสริมเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน หรือ Virtual Reality แห่งอนาคต ภายใต้คอนเซปต์ที่เรียกว่า เมตาเวอร์ส (metaverse)
ซัคเคอร์เบิร์ก อธิบายว่า เมตาเวอร์ส คือ "สิ่งแวดล้อมเสมือน" ที่เชื่อมโยงชุมชนเสมือนจริงต่าง ๆ เข้าด้วยกัน โดยผู้ใช้สามารถพบปะกัน ทำงาน เล่น ซื้อของออนไลน์ หรือเข้าสื่อสังคมออนไลน์ ผ่านเทคโนโลยีเสมือนจริง (Virtual Reality) และเทคโนโลยีเสริมจริง (Augmented Reality) รวมทั้งแอปในโทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ
ซีอีโอของเฟสบุ๊ค กล่าวว่า ชื่อ "Facebook" นั้นมิได้สะท้อนให้เห็นถึงทุกอย่างที่ทางบริษัทกำลังทำอยู่อีกต่อไป ซึ่งนอกเหนือจากสื่อสังคมออนไลน์แล้ว เฟสบุ๊คยังมีธุรกิจเกี่ยวกับอุปกรณ์สำหรับเทคโนโลยีเสมือนจริงต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อผู้คนเข้าด้วยกัน
ภายใต้การเปลี่ยนชื่อใหม่นี้ สื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ของบริษัท รวมทั้ง เฟสบุ๊ค วอทส์แอป (WhatsApp) และอินสตาแกรม (Instagram) จะยังคงใช้ชื่อเดิมต่อไป เช่นเดียวกับโครงสร้างขององค์กรที่จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่สัญลักษณ์ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์จะเปลี่ยนเป็น "MVRS" ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมเป็นต้นไป
SEE ALSO: วิกฤตภายในของเฟสบุ๊ค กับ 5 โจทย์ใหญ่ที่รออยู่
มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก พูดถึงการมุ่งหน้าสู่เมตาเวอร์สตั้งแต่เมื่อเดือนกรกฎาคม และบริษัทแห่งนี้ยังได้ลงทุนพัฒนาเทคโนโลยี VR และ AR อย่างมาก โดยได้เปิดตัวอุปกรณ์ใหม่ๆ เช่น หูฟัง Oculus VR ออกมา พร้อมกับเร่งออกแบบอุปกรณ์แว่นตา และสายรัดข้อมือ AR อยู่ด้วย
และเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เฟสบุ๊ค ซึ่งมีบริษัทลูกที่นำเสนอแพลตฟอร์มเทคโนโลยีอื่นๆ ในสังกัดมากมาย เช่น วอทส์แอป และ อินสตาแกรม เพิ่งประกาศแผนจ้างงานเพิ่ม 10,000 ตำแหน่งในสหภาพยุโรป เพื่อสร้าง metaverse อันเป็นแผนงานที่ ซัคเคอร์เบิร์ก ออกมาโปรโมทด้วยตนเอง
ซัคเคอร์เบิร์ก กล่าวว่า เมตาเวอร์สจะสามารถไปถึงผู้คนราว 1,000 ล้านคนภายในทศวรรษหน้า ซึ่งเชื่อว่าจะกลายเป็น "ระบบนิเวศน์ใหม่" ที่ช่วยสร้างงานด้านเทคโนโลยีได้หลายล้านตำแหน่งในอนาคต
อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์บางคนชี้ว่า การเปลี่ยนชื่อครั้งนี้อาจเป็นความพยายามของเฟสบุ๊คในการ "เบี่ยงประเด็น" จากรายงาน Facebook Papers ซึ่งเป็นเอกสารหลายพันหน้าเกี่ยวกับการทำธุรกิจของสื่อสังคมออนไลน์นี้ที่ถูกรวบรวมจากคนภายในองค์กรและสื่อต่างๆ ในสหรัฐฯ ชี้ถึงความขัดแย้งในบริษัทเและปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นต่อการใช้งานของเฟสบุ๊คซึ่งมีผู้ใช้ราวสามพันล้านคนทั่วโลก
อดีตพนักงานของเฟสบุ๊ค ฟรานเชส เฮาเกน เปิดเผยว่า ข้อมูลส่วนหนึ่งของเอกสารดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า เฟสบุ๊คเพิกเฉยหรือลดความสำคัญของคำเตือนเรื่องผลกระทบทางลบจากสื่อสังคมออนไลน์นี้ต่อกลุ่มคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นหญิง
ลอร่า รีส ที่ปรึกษาด้านการตลาด เปรียบเทียบการเปลี่ยนชื่อของเฟสบุ๊คในครั้งนี้ว่าเหมือนกับที่บริษัทพลังงาน BR พยายามปรับชื่อบริษัทเป็น "Beyond Petroleum" เพื่อหนีจากการถูกวิจารณ์ว่าเป็นตัวการทำลายสิ่งแวดล้อม