ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เฟสบุ๊ค (Facebook) ประสบกับคลื่นยักษ์ที่ถาโถมเข้าใส่ จากการที่อดีตพนักงานออกมาเปิดเผย เกี่ยวกับวิธีการทำธุรกิจของสื่อสังคมออนไลน์ยักษ์ใหญ่แห่งนี้ ที่กล่าวหาว่า บริษัทเป็นต้นตอของปัญหาใหญ่ทางสังคมทั่วโลก ตั้งแต่ประเด็นการลักลอบค้ามนุษย์ ไปจนถึงเหตุการณ์ใช้ความรุนแรงที่นำมาซึ่งการสูญเสียชีวิตของผู้คน
และสถานการณ์ของ เฟสบุ๊ค ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายลงในเร็วๆ นี้ โดยเฉพาะหลังมีการเปิดเผยในสัปดาห์นี้ว่า บริษัทไม่ได้ทำตามพันธสัญญาที่จะส่งเสริมเสรีภาพการแสดงออก ขณะที่ ปล่อยให้ระบบอัลกอริทึ่มของตนทำงานโดยนำพาผู้ใช้งานไปสู่ข้อมูลเนื้อหาที่เชื่อมโยงกับความคิดสุดโต่งและใช้ความรุนแรงโดยไม่ทำการใดๆ เพื่อป้องกันเลย
แต่ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเฟสบุ๊ค กล่าวระหว่างการแถลงข่าวผลประกอบการไตรมาสล่าสุดเมื่อวันจันทร์ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นฝีมือของสื่อทั้งหลายที่ป้ายสีบริษัทของตน
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ เฟสบุ๊ค ยังแก้ไม่ได้และความท้าทายทางธุรกิจอื่นๆ ที่ยังรออยู่ ทำให้บริษัทแห่งนี้ต้องเตรียมตัวรับมือกับโจทย์ใหญ่ 5 โจทย์ที่กำลังจะพุ่งเข้ามาในไม่ช้านี้แล้ว
กระบวนการตรวจสอบโดย กลต.สหรัฐ
หลัง ฟรานซิส เฮาเกน อดีตผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ของ เฟสบุ๊ค นำเอกสารจำนวนหลายพันหน้าออกมาเปิดเผยต่อสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ และสื่อมวลชนทั้งหลายเมื่อเดือนที่แล้ว ก็มีรายงานเกี่ยวกับหลักปฏิบัติในการทำธุรกิจของผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ชั้นนำแห่งนี้ ที่เป็นเจ้าของแอปยอดนิยม อย่าง อินสตาแกรม (Instagram) และ วอทส์แอป (WhatsApp) ออกมามากมาย โดยเอกสารบางส่วนได้ตกไปถึงมือของ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เรียบร้อยแล้วด้วย ซึ่งทำให้หลายฝ่ายมองว่า มีความน่าจะเป็นที่หน่วยงานกำกับดูแลกิจการแห่งนี้จะสั่งสอบสวน เฟสบุ๊ค ในไม่ช้า แม้ว่า กลต. จะยังไม่ได้ออกมาระบุว่า ทางหน่วยงานได้เริ่มหรือจะมีการเริ่มทำการสอบสวนใดๆ หรือไม่ก็ตาม
คดีว่าด้วยการต่อต้านการผูกขาด
ปัจจุบัน เฟสบุ๊ค ยังต่อสู้คดีที่ คณะกรรมาธิการการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ (Federal Trade Commission - FTC) ยื่นฟ้องว่า บริษัทแห่งนี้ทำการผูกขาดธุรกิจตลาดสื่อสังคมออนไลน์อยู่ และสั่งให้บริษัทขายธุรกิจ อินสตาแกรม และ วอทส์แอป ออกเสีย ขณะที่ เฟสบุ๊ค ออกมายืนยันว่า ตนไม่ได้ทำการผูกขาดใดๆ ก่อนที่ เฮาเกน จะเปิดเผยเอกสารที่ระบุว่า บริษัทแห่งนี้ทราบดีอยู่แล้วว่า ตนควบคุมตลาดอยู่มากเพียงใด
การดำเนินทางด้านนิติบัญญัติต่างๆ
สมาชิกสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ที่สังกัดทั้งสองพรรคและรับฟังข้อมูลจาก เฮาเกน แล้ว แสดงจุดยืนไม่พอใจเหมือนกันเกี่ยวกับสิ่งที่ เฟสบุ๊ค ทำ ซึ่งก็คือ การรับรู้ว่าแพลตฟอร์มของตนเป็นภัยต่อสุขภาพจิตของผู้ใช้งานที่เป็นวัยรุ่น โดยเฉพาะกลุ่มเด็กสาว แต่ไม่ได้ลงมือทำการแก้ไขใดๆ
และในเวลานี้ มีร่างกฎหมายใหม่ๆ หลายฉบับกำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณา ซึ่งหากมีการผ่านออกมาใช้งานจริง ก็จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการควบคุมธุรกิจเทคโนโลยีสื่อสังคมออนไลน์อย่างเข้มข้นขึ้น เช่น การจัดอันดับความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้งานในช่วงอายุต่างๆ และเรทติ้งเนื้อหาที่ปรากฏในแพลตฟอร์มทั้งหลาย รวมทั้งการบังคับให้บริษัทผู้ให้บริการ เช่น เฟสบุ๊ค ต้องออกมารับผิดชอบกรณีเผยแพร่ข้อมูลเท็จ และเปิดทางให้ผู้ใช้งานปกป้องความเป็นส่วนตัวของตนให้มากยิ่งขึ้น เป็นต้น
กระแสความไม่พอใจภายในองค์กร
เอกสารเกี่ยวกับการทำธุรกิจของ เฟสบุ๊ค ที่ได้รับการเปิดเผยในช่วงสัปดาห์นี้แสดงให้เห็นว่า พนักงานของบริษัทนั้นมีความไม่พอใจเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของ เฟสบุ๊ค พอควร โดยดูได้จากข้อความที่พนักงานส่งกันเป็นการภายใน และการร้องเรียนของพนักงานเกี่ยวกับการจับตาตรวจสอบเนื้อหาที่ส่งผ่านแพลตฟอร์มแห่งนี้ เป็นต้น
เอกสารเหล่านั้นยังแสดงให้เห็นว่า พนักงานของบริษัทค่อยๆ ทยอยลาออกกันแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่มีหน้าที่จัดการกับประทุษวาจา (hate speech) และข้อมูลผิดๆ ทั้งหลาย เพราะไม่เชื่อว่า ฝ่ายบริหารของบริษัทสนับสนุนนโยบายนี้อย่างจริงจัง
การคว่ำบาตรของผู้ลงโฆษณา
เมื่อปีที่แล้ว กลุ่ม Anti-Defamation League จัดกิจกรรมกดดันให้บริษัททั้งหลายระงับการลงโฆษณาใน เฟสบุ๊ค เป็นการชั่วคราว เพื่อประท้วงการที่สื่อสังคมออนไลน์แห่งนี้ไม่กำจัดประทุษวาจาและข้อมูลทำนองดังกล่าวออกไปจากแพลตฟอร์มของตน
โจนาธาน กรีนแบล็ตต์ ซีอีโอของกลุ่มนี้ ระบุในคำแถลงที่ส่งให้กับ วีโอเอ ว่า ทางกลุ่มกำลังจะกลับมาจัดกิจกรรมดังว่านี้อีกครั้งแล้ว โดยกำลังมีการเตรียมการเพื่อตัดสินใจว่า จะทำการอย่างใดเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อ เฟสบุ๊ค ในที่สุด