อธิบายเรื่อง "เพดานหนี้" เหตุใดจึงกลายเป็น "อาวุธทางการเมือง" ในอเมริกา

The U.S. Treasury building is seen in Washington, May 4, 2021.

ขณะนี้ ความกังวลเรื่องรัฐบาลสหรัฐฯ "กู้เงินเกินเพดานหนี้" เป็นประเด็นร้อนในอเมริกา คำถามที่น่าสนใจคือจริงๆเเล้วนักการเมืองในสภากำลังถกเถียงกันเรื่องอะไร?

สำนักข่าวเอพี (Associated Press) เสนอรายงานที่อธิบายในเรื่องนี้ โดยมีเนื้อหาดังนี้

การตั้งเพดานหนี้ เป็นเเนวคิดที่มีมาเกือบหนึ่งร้อยปีในสหรัฐฯ​ โดยรัฐสภากำหนดว่ารัฐบาลห้ามกู้เงินเกินมูลค่าเท่าใด และตั้งเเต่ปี ค.ศ. 1960 หรือ 61 ปีก่อน มีการเพิ่มเพดานหนี้และระงับการใช้เพดานหนี้ โดยสมาชิกรัฐสภาอเมริกันรวมทั้งหมดเกือบ 80 ครั้ง

แต่ในครั้งนี้ ความขัดเเย้งระหว่างพรรคเดโมเเครตเเละรีพับลิกันรุนเเรงขึ้น และนั่นหมายถึงการใช้เรื่องเพดานหนี้เป็นอาวุธทางการเมือง

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาส.ส.เดโมเเครตลงมติสนับสนุนให้ระงับการใช้เพดานหนี้จนถึงปีหน้า ซึ่งน่าจะทำให้เกิดการโต้เถียงกับฝ่ายรีพับลิกันอย่างเผ็ดร้อนเมื่อแผนระงับเพดานนี้ถูกพิจารณาโดยวุฒิสภาซึ่งทั้งสองพรรคมีเสียงเท่ากันพอดี

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลประธานาธิบดี โจไบเดนต้องการให้นักการเมืองทั้งสองพรรคประสานความเเตกต่างเเละร่วมมือกันในเรื่องนี้

หากว่าฝ่ายการเมืองไม่สามารถหาทางออกได้ การจัดสรรเงินงบประมาณให้หน่วยงานรัฐดำเนินไปจะยุติลงในเดือนตุลาคม และรัฐจะไม่มีเงินไปใช้หนี้ ซึ่งอาจสั่นคลอนเศรษฐกิจและสร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดการเงิน

แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยกับการระงับการใช้เพดานหนี้ แต่ผู้นำฝ่ายรีพับลิกันในวุฒิสภา ส.ว.มิตช์ เเม็คคอนเเนลล์ กล่าวเมื่อวันพุธว่า จะไม่ปล่อยให้อเมริกาไม่สามารถชำระหนี้ได้

FILE - Senate Minority Leader Mitch McConnell, R-Ky., walks away after speaking with reporters as work continues on the Democrats' Build Back Better Act, massive legislation that is a cornerstone of President Joe Biden's domestic agenda, at the Capitol, i

ประวัติการตั้งเพดานหนี้

ก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง รัฐสภาอเมริกันจำเป็นต้องอนุมัติการออกพันธบัตรทุกๆครั้ง การตั้งเพดานหนี้เป็นเครื่องมือช่วยในการสนับสนุนการเงินต่อการทำสงครามโดยสภาไม่ต้องลงมติทุกครั้งเมื่อทางการออกพันธบัตร

แม้ว่าจุดเริ่มต้น จะเพื่อให้รัฐทำงานง่ายขึ้น เเต่เมื่อเวลาผ่านไปการตั้งเพดานหนี้กลายเป็นหัวข้อขัดเเย้งทางการเมือง

สำนักงานงบประมาฯแห่งรัฐสภาอเมริกัน หรือ Congressional Budget Office ประเมินว่าสหรัฐฯจะขาดดุลงบประมาณปีละ 1 ล้านล้านดอลลาร์ ไปเรื่อยๆในอีก 10 ปีจากนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากเงินที่ใช้เพื่อพยุงเศรษญกิจในยามวิกฤตและมาตรการรับมือการระบาดของโคโรนาไวรัส ขณะเดียวกันรัฐก็ต้องใช้จ่ายเงินในโครงการประกันสังคม และการช่วยเหลือประชาชนด้านประกันสุขภาพ

เพดานหนี้ของสหรัฐฯอยู่ที่ระดับใด?

ขณะนี้เพดานหนี้ของอเมริกาอยู่ที่ 28.4 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าขนาดเศรษฐกิจอเมริกัน

ในช่วงรัฐบาลอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีการระงับใช้เพดานหนี้ 3 ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นผ่านการร่วมมือของนักการเมืองทั้งสองพรรค เมื่อปี ค.ศ. 2019 ซึ่งมูลค่าหนี้ตอนนั้นอยู่ที่ 22 ล้านล้านดอลลาร์

รัฐบาลไบเดนมองว่าการระงับการใช้เพดานหนี้และไม่ปล่อยให้รัฐหมดความสามารถในการชำระหนี้ได้ ควรเป็นการทำงานร่วมประสานความเเตกต่างของพรรคเดโมเเครตเเละรีพับลิกัน เพื่อเป็นการส่งสัญญาณต่อตลาดการเงินว่ารัฐบาลมีความรับผิดชอบทางการคลัง

นักวิเคราะห์ของ Moody’s Analytics ระบุว่า หากเหตุการณ์ทางตันเรื่องเพดานหนี้ส่งผลให้เกิดเศรษฐกิจถดถอย ประชาชน 6 ล้านรายจะตกงาน และตลาดหุ้นอาจร่วงลง จนทำให้สินทรัพย์ของครอบครัวอเมริกันสูญไปเป็นมูลค่ารวม 15 ล้านล้านดอลลาร์

เหตุใดรีพับลิกันจึงต่อต้านการเพิ่มเพดานหนี้?

ส.ว.เเม็คคอนเเนลล์และสมาชิกพรรครีพับลิกัน มองว่าการเพิ่มเพดานกู้เงิน เกี่ยวข้องกับความพยายามของประธานาธิบดีไบเดน ที่จะขึ้นภาษีเศรษฐีและบริษัทอเมริกัน เพื่อนำเงินไปใช้ในโครงการสวัสดิการต่างๆ รวมถึงเป็นเงินทดเเทนการลดหย่อนภาษีชนชั้นกลาง

เเม็คคอนเเนลล์ กล่าวว่าการขึ้นภาษีของไบเดนจะสร้างความเดือนร้อนที่ชนชั้นกลางได้รับผลร้ายด้วย เขาบอกด้วยว่าเเนงทางของไบเดนจะเปลี่ยนประเทศไปสู่เเนวทาง "สังคมนิยม"

ผลการสำรวจความเห็นประชาชนโดย Pew Research Center ชี้ให้เห็นว่าผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งอเมริกัน รู้สึกไม่ค่อยกังวลเท่าใดกับเพดานหนี้ ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 โดยมีผู้ตอบเเบบสอบถามร้อยละ 47 ที่บอกว่าเรื่องขาดดุลงบประมาณเป็น "ปัญหาที่ใหญ่มาก" เทียบกับร้อยละ 55 เมื่อ 3 ปีก่อน

FILE PHOTO: U.S. one hundred dollar notes are seen in this picture illustration taken in Seoul, Feb. 7, 2011.

เหตุใดจึงไม่ยกเลิกเพดานหนี้ไปเลย?

หากว่าพิจารณาถึงทางออกของปัญหาเพดานหนี้ แนวคิดหนึ่งคือการเลิกตั้งเพดานหนี้ เพื่อที่ว่าประเด็นนี้จะได่้ไม่เป็นหัวข้อต่อรองทางการเมืองอีกต่อไป

แหล่งข่าวของรัฐบาลไบเดนที่ไม่ประสงค์จะออกนามบอกกับสำนักข่าวเอพีว่า ทำเนียบขาวจะสนับสนุนเเนวทางนี้ ก็ต่อเมื่อนักการเมืองในรัฐสภาแสดงการสนับสนุนเช่นกัน

ขณะนี้มีผู้ที่ทำงานให้กับทั้งพรรคเดโมเเครตและรีพับลิกันบางคนที่เห็นด้วยการเรื่องนี้

เจสัน เฟอร์เเมน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด อดีตที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ร่วมเขียนบทความกับ โรหิต คูมาร์ อดีตที่ปรึกษาของวุฒิสมาชิกเเม็คคอนเนลล์ ในหลังสือพิมพ์ Wall Street Journal เมื่อ 4 ปีก่อน โดยทั้งสองคนสนับสนุนให้เลิกการตั้งเพดานหนี้

(ที่มา: สำนักข่าวเอพี)