ยุโรปร่วมกดดันให้อิหร่านเปลี่ยนใจลดการเสริมคุณภาพแร่ยูเรเนียม

FILE - This Jan. 15, 2011 file photo shows the heavy water nuclear facility near Arak, 150 miles (250 kilometers) southwest of the capital Tehran, Iran.

Your browser doesn’t support HTML5

EU_Iran_nuclear

ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปขอร้องให้อิหร่านเปลี่ยนการตัดสินใจเรื่องการเสริมคุณภาพแร่ยูเรเนียมเกินระดับที่กำหนดไว้ในข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์ซึ่งอิหร่านทำไว้กับประเทศมหาอำนาจ 6 ประเทศเมื่อปี ค.ศ.2015

อิหร่านประกาศเมื่อวันอาทิตย์ว่าจะเริ่มเสริมคุณภาพแร่ยูเรเนียมเกิน 3.67% ซึ่งจะถือเป็นการละเมิดข้อตกลงที่ทำไว้ หลังจากที่สหรัฐฯ ถอนตัวออกไปเมื่อปีที่แล้ว

ทางอังกฤษได้ขอให้อิหร่านหยุดการกระทำที่เป็นการละเมิดข้อตกลงดังกล่าวทันที ขณะที่เยอรมนีมีคำแถลงขอให้อิหร่านเปลี่ยนการตัดสินใจ ส่วนทางโฆษกสหภาพยุโรปกล่าวกับสำนักข่าว Associated Press ว่าอาจมีการประชุมฉุกเฉิน​ระหว่างประเทศที่ลงนามในข้อตกลงฉบับนี้

ข้อตกลงดังกล่าวกำหนดไว้ว่า อิหร่านจะไม่สามารถเสริมคุณภาพยูเรเนียมได้เกินระดับ 3.67% และทำได้ในจำนวนสูงสุดไม่เกิน 300 กิโลกรัม

ยูเรเนียมที่ผ่านการเสริมคุณภาพ 3.67% จะสามารถนำไปใช้ในการผลิตพลังงานนิวเคลียร์ได้ ซึ่งถือว่าต่ำกว่าระดับ 90% ที่ใช้ในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีอิหร่าน ฮัสซาน รูฮานี กล่าวเตือนประเทศมหาอำนาจในยุโรปว่า อิหร่านจะเพิ่มปริมาณการเสริมคุณภาพแร่ยูเรเนียมที่นำมาใช้ในการผลิตนิวเคลียร์จนถึงระดับเท่าที่อิหร่านต้องการ

คำกล่าวของประธานาธิบดีอิหร่านครั้งนี้ถือว่าเป็นการผลักแรงกดดันไปยังประเทศที่ยังยึดมั่นกับสนธิสัญญานิวเคลียร์ เพื่อให้ประเทศเหล่านั้นหาทางช่วยเหลืออิหร่านให้หลีกเลี่ยงมาตรการลงโทษจากสหรัฐฯ

เวลานี้ อิหร่านกำลังเกิดความตึงเครียดกับสหรัฐฯ หลังจากรัฐบาล ปธน.ทรัมป์ ถอนตัวออกจากสนธิสัญญาควบคุมนิวเคลียร์ของอิหร่าน และนำมาตรการลงโทษกลับมาใช้กับอิหร่าน โดยมุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมน้ำมันของอิหร่าน เพื่อกดดันให้อิหร่านยอมเจรจาข้อตกลงฉบับใหม่

และเมื่อเดือน พ.ค. ประธานาธิบดีอิหร่าน ฮัสซาน รูฮานี กล่าวว่า อิหร่านจะไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดเรื่องปริมาณแร่ยูเรเนียมอีกต่อไป เพื่อตอบโต้สหรัฐฯ

หลังจากการถอนตัวของสหรัฐฯ อิหร่านและประเทศที่ร่วมลงนามอีก 5 ประเทศ คือ รัสเซีย ฝรั่งเศส อังกฤษ จีน และเยอรมนี ยังคงยึดมั่นตามข้อตกลงดังกล่าวต่อไป แต่ทางอิหร่านระบุว่า ประเทศที่ยังเหลือในข้อตกลงนั้นไม่ได้ยื่นมือเข้าช่วยเพื่อพยุงเศรษฐกิจอิหร่านที่กำลังเผชิญการลงโทษจากรัฐบาลสหรัฐฯ เท่าที่ควร