จับตาผลประโยชน์ 'ธุรกิจค้าอาวุธ' กับท่าทีของรัฐบาลยุโรปต่อการหายตัวไปของนักข่าวซาอุฯ

Activists from Avaaz stage a protest timed to coincide with the visit by Saudi Arabia's Crown Prince Mohammad bin Salman outside the Houses of Parliament in London, Britain, March 7, 2018.

Your browser doesn’t support HTML5

จับตาผลประโยชน์ธุรกิจค้าอาวุธกับท่าทีของรัฐบาลยุโรปต่อการหายตัวไปของนักข่าวซาอุฯ

หลังจากที่สหรัฐฯ แสดงปฏิกิริยาเรื่องการหายตัวไปอย่างมีเงื่อนงำของนักข่าวชาวซาอุดิอาระเบียรายหนึ่ง ขณะนี้รัฐบาลยุโรปหลายประเทศแสดงท่าทีเกี่ยวเหตุการณ์ดังกล่าวเช่นกัน

เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ประเทศในยุโรปมีความสัมพันธ์ที่ดีกับซาอุดิอาระเบียโดยเฉพาะเรื่องการค้าอาวุธ และพยายามหาจุดสมดุลในการวางตัว

สื่อรายงานว่าราชวงศ์ซาอุดิอาระเบียอาจจะอยู่เบื้องหลังการหายตัวไปของ นายจามาล คาชอกกี (Jamal Khashoggi) ผู้มีสัญชาติซาอุฯ และเขายังเป็นผู้วิจารณ์มกุฎราชกุมาร โมฮัมมัด บิน ซัลมาน ผ่านบทความของเขาในหนังสือพิมพ์ Washington Post บ่อยครั้ง

ตำรวจตุรกีเชื่อว่า นายคาชอกกีถูกกลุ่มบุคคลชาวซาอุฯ สังหารภายในสถานกงสุลที่นครอิสตันบูล เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม จากนั้นศพของเขาถูกหั่นเป็นชิ้นๆ ก่อนถูกนำออกจากสถานกงสุล

แต่ทางการซาอุฯ ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้อย่างแข็งขัน

ขณะที่ตอนนี้ไม่มีใครทราบว่านายคาชอกกีปลอดภัยหรือไม่ และอยู่ที่ใด เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากพรรครัฐบาลของเยอรมนี นาย Juergen Hardt กล่าวว่า สหภาพยุโรปอาจจะต้องปรับนโยบายที่มีกับซาอุดิอาระเบีย หลังข่าวความเป็นไปได้ว่านายคาชอกกีถูกฆ่าโดยมือสังหารชาวซาอุฯ

อย่างไรก็ตาม ท่าทีดังกล่าวถูกวิจารณ์ว่ายังไม่แข็งกร้าวต่อรัฐบาลริยาดห์ เพียงพอ

กลุ่มอนุรักษ์นิยมและพรรคฝ่ายค้านในยุโรป กล่าวว่า ถ้อยแถลงของนาย Hardt ไม่ได้พูดถึงมาตรการลงโทษต่อซาอุดิอาระเบีย และในแถลงการณ์ร่วมเมื่อวันอาทิตย์ ของอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ไม่มีการพูดถึงความเป็นไปได้ที่จะใช้มาตรการลงโทษต่อรัฐบาลริยาดห์

รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ Jeremy Hunt กล่าวว่า อังกฤษจะพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมกับการหายตัวไปของนายคาชอกกี หากว่าราชวงศ์ซาอุฯ ถูกเปิดเผยว่าอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ แต่ รัฐมนตี Hunt ถูกวิจารณ์ว่าแสดงจุดยืนในประเด็นดังกล่าวล่าช้าเกินไปหลายวัน

ทั้งนี้ซาอุดิอาระเบียเป็นลูกค้ารายใหญ่ของการส่งออกอาวุธของอังกฤษ โดยครึ่งหนึ่งของอาวุธจากอังกฤษมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ซาอุดิอาระเบีย ช่วงปี ค.ศ. 2007 ถึง 2016

นอกจากนี้ ร้อยละ 23 ของอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ซาอุดิอาระเบียซื้อ เป็นสินค้าจากบริษัทอังกฤษ

และความซับซ้อนอีกประการหนึ่งต่อการแสดงจุดยืนของประเทศตะวันตกต่อการหายตัวไปของนายคาชอกกี คือท่าทีแข็งกร้าวของอเมริกาและประเทศในยุโรปต่อซาอุดิอาระเบีย อาจจะเปิดทางให้อิหร่านได้เปรียบ

นักวิเคราะห์ Sanam Vakil จาก Chatham House ของอังกฤษ กล่าวว่า ขณะนี้อิหร่านกำลังถูกรุมเร้าด้วยปัญหาการถูกมาตรการลงโทษจากสหรัฐฯ และพันธมิตร ดังนั้นข่าวการพัวพันของราชวงศ์ซาอุฯ ต่อการหายตัวไปของนายคาชอกกี จึงสร้างโอกาสให้รัฐบาลเตหะราน ในการปกป้องตนเองจากการถูกแปลกแยกโดยนานาชาติได้

เขากล่าวว่า รัฐบาลอิหร่านยังอาจสามารถใช้เหตุการณ์นี้ สร้างอิทธิพลได้มากขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลางด้วย

(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของ Jamie Dettmer จากกรุงลอนดอน)