จีนหันควบรวมกิจการในยุโรปเพื่อการถ่ายโอนเทคโนโลยี

FILE - Visitors to the 21st China Beijing International High-tech Expo look at robots and helicopter drone displayed in Beijing, China, May 17, 2018.

ตัวเลขการซื้อและควบรวมธุรกิจเทคโนโลยีในยุโรปครึ่งปีแรกนี้สูงกว่าในสหรัฐถึงเก้าเท่าตัว

Your browser doesn’t support HTML5

Europe China Tech Transfer

สหรัฐฯ กล่าวหาจีนว่ามีความพยายามในระดับรัฐบาลเพื่อบังคับการถ่ายโอนเทคโนโลยี หรือถึงขั้นขโมยทรัพย์สินทางปัญญาด้านเทคโนโลยีของสหรัฐฯ และเชื่อกันว่าแผนงาน “Made in China 2025” เพื่อสร้างความทันสมัยด้านเทคโนโลยีให้กับจีนเป็นหัวใจสำคัญหรือเป็นที่มาของความขัดแย้งดังกล่าว

ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ South China Morning Post กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีน พบว่า กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ 30 บริษัทของจีน ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าชิ้นส่วนต่างๆ จากต่างชาติเป็นอย่างมาก เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมทันสมัย เช่น การผลิตจรวด อากาศยาน และรถยนต์ เป็นต้น

คุณ Rob Atkinson ผู้อำนวยการมูลนิธิข้อมูลและสารสนเทศที่กรุงวอชิงตัน เชื่อว่า รัฐบาลจีนต้องการสร้างภาพให้ประชาชนเข้าใจว่าจีนเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีทันสมัย แต่ขณะเดียวกันก็พยายามบอกกับชาวโลกว่า จีนยังไม่ทันสมัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีเท่าที่ควร เพราะเกรงว่าหากจีนถูกมองว่ามีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีแล้ว ประเทศคู่ค้าต่างๆ ของจีนจะต่อต้านความพยายามเพื่อบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยีจากบริษัทต่างชาติซึ่งทำธุรกิจอยู่ในจีน

ทางด้านคุณ Chris Dong ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านจีน ของบริษัทข้อมูลการตลาด IDC ชี้ว่า ช่องว่างด้านเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ขณะนี้มีสูงมาก โดยไม่จำกัดเฉพาะเรื่องชิ้นส่วนอุปกรณ์เท่านั้น แต่รวมถึงความสามารถในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านวิศวกรรม และการเปลี่ยนแปลงปรับตัวของภาคธุรกิจต่างๆ ด้วย

และว่าขณะที่จีนมุ่งเน้นเรื่องการใช้จ่ายเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและฮาร์ดแวร์รวมทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานนั้น สหรัฐฯ กลับใช้เงินลงทุนมากกว่าในด้านซอฟต์แวร์และบริการเพื่อช่วยกระตุ้นการปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีระบบดิจิทัลได้

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เชื่อว่า มาตรการทางภาษีของสหรัฐฯ ต่อข้อกล่าวหาที่ว่าจีนบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยีหรือขโมยทรัพย์สินทางปัญญานั้น จะไม่สามารถยับยั้งความพยายามพัฒนาเทคโนโลยีของจีนได้ เพราะผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าจีนคงจะพยายามพัฒนาเทคโนโลยีและหาซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศอยู่ต่อไป

โดยคุณ Kuo-yuan Liang ประธานสถาบันวิจัย Yuanta-Polaris ซึ่งตั้งอยู่ในไต้หวัน เชื่อว่า จีนจะยังคงบังคับให้มีการถ่ายโอนเทคโนโลยีจากผู้ลงทุนต่างชาติที่เข้าไปดำเนินธุรกิจในประเทศ โดยอาศัยข้อแลกเปลี่ยนเรื่องการเข้าถึงตลาดในประเทศ

ผลการวิจัยชิ้นหนึ่งแสดงว่า ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ มูลค่าการลงทุนของจีนเพื่อซื้อหรือควบรวมธุรกิจเทคโนโลยีในยุโรปนั้นสูงถึงสองหมื่นสองพันล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าตัวเลขการเข้าซื้อกิจการเทคโนโลยีในสหรัฐฯ ในช่วงเวลาเดียวกันถึงเก้าเท่าตัว

และคุณ Adam Dunnett เลขาธิการหอการค้าสภาพยุโรปในประเทศจีนก็ชี้ว่า การลงทุนเพื่อซื้อเทคโนโลยีใหม่ๆ ของจีนนั้นไม่ใช่ปัญหา แต่ที่อาจเป็นปัญหาคือระดับการเข้ามีส่วนร่วมของรัฐบาลจีน และมูลเหตุจูงใจสำหรับแต่ละโครงการ

เลขาธิการหอการค้าสภาพยุโรปในจีน เสริมด้วยว่า ธุรกิจของยุโรปก็มีความห่วงกังวลเช่นเดียวกับสหรัฐฯ เกี่ยวกับการดำเนินการของรัฐบาลจีนซึ่งเป็นการบิดเบือนกลไกตลาดเสรี และกล่าวว่า การบังคับให้ธุรกิจต่างชาติซึ่งลงทุนในประเทศจีนต้องถ่ายโอนเทคโนโลยีให้กับบริษัทท้องถิ่นของจีน รวมทั้งเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญานั้น เป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้