ผู้ประกอบการธุรกิจเดินทางหงุดหงิดกับมาตรการจำกัดการเดินทางของอียู

EU COVID travel

ผู้ประกอบการธุรกิจเดินทาง เชื่อว่า การที่สหภาพยุโรปตัดสินใจยืดระยะเวลาดำเนินมาตรการจำกัดการเดินทางเข้าพื้นที่ของประเทศสมาชิกทั้งหมด สำหรับผู้ที่มาจากสหรัฐฯ และอังกฤษ คือประเด็นเรื่องการเมือง

โจสเซฟ วาราดิ ซีอีโอของสายการบิน Wizz Air ซึ่งเป็นสายการบินต้นทุนต่ำ ที่มีที่ทำการใหญ่อยู่ในกรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ให้สัมภาษณ์กับสถานีข่าว CNBC ของสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ ว่า สหภาพยุโรปอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมหนักแล้ว เพราะไม่สามารถหามาตรการที่เห็นพ้องต้องกันทุกฝ่ายมาดำเนินการได้ ขณะที่วิธีต่างๆ ที่อียูนำมาใช้เพื่อรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในหมู่ประเทศสมาชิกกลับกลายเป็นเรื่องการเมืองจนเลยเถิดไปแล้ว

ก่อนหน้านี้ ไมเคิล โอ’เลียรี ซีอีโอ ของ สายการบิน Ryanair ซึ่งเป็นคู่แข่งของ Wizz Air ออกมาเรียกร้องให้นักการเมืองในสหภาพยุโรปปรับเปลี่ยนนโยบายให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง โดยระบุว่า ทุกคนควรตระหนัก “ว่าถึงเวลาแล้วที่ชีวิตต้องดำเนินต่อไป” หลังสายการบินนี้รายงานภาวะขาดทุนประจำปีสูงสุดในรอบ 35 ปีของการดำเนินธุรกิจ อันเป็นผลมาจากการมาตรการจำกัดการเดินทางและการล็อกดาวน์เพราะระบาดของโควิด-19

สหภาพยุโรปประกาศการตัดสินใจล่าสุดในวันพฤหัสบดี ที่เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกยังคงดำเนินมาตรการห้ามนักท่องเที่ยวและผู้ที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนเดินทางจากสหรัฐฯ และอังกฤษ รวมทั้งอีกหลายประเทศ เข้ามายังพื้นที่อียู และการตัดสินใจดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการสายการบินพาณิชย์และอุตสาหกรรมบริการหลายแห่งรู้สึกไม่พอใจกับสิ่งที่หลายคนมองว่าเป็นการดำเนินมาตรการผ่อนคลายการจำกัดการเดินทางสำหรับนักท่องเที่ยวที่ไม่ทันต่อสถานการณ์

ผู้ประกอบการเหล่านี้ยังให้ความเห็นว่า คณะกรรมาธิการยุโรปวิตกกังวลมากเกินไป และหลายรายไม่พอใจกับการที่สมาชิกไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในการดำเนินการเปิดประเทศของตนให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงฤดูร้อนของซีกโลกตอนเหนือที่กำลังจะมาถึงนี้

เท่าที่ผ่านมา รัฐบาลประเทศส่วนใหญ่ที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ปฏิบัติตามคำแนะนำด้านการเดินทางอันเคร่งครัดของอียู แต่มีบางประเทศที่ยังไม่ทำตาม ขณะที่บางประเทศออกคำสั่งห้ามการเดินทางมาจากประเทศนอกอียู ทำให้การเดินทางมาจากนอกกลุ่มประเทศมีความยุ่งยากกว่าเดิม โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ไม่สามารถบินตรงไปยังจุดหมายปลายทางได้

รายงานข่าวระบุว่า อิตาลี โปรตุเกส กรีซ รัฐที่เป็นสมาชิกความตกลงเชงเกน (Schengen) รวมทั้ง โครเอเชีย ที่เป็นสมาชิกอียู ไม่สนใจคำเรียกร้องของคณะกรรมาธิการยุโรป และตัดสินใจค่อยๆ เปิดพรมแดนให้นักท่องเที่ยว ที่รวมถึงผู้ที่มาจากสหรัฐฯ และอังกฤษด้วย เพื่อมาพยุงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอันมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของตน

ทั้งนี้ อียู มีรายชื่อประเทศสีขาว (White List) ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อต่ำ อันรวมถึง ออสเตรเลีย อิสราเอล นิวซีแลนด์ รวันดา สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน และประเทศไทย โดยผู้ที่เดินทางมาจากประเทศเหล่านี้สามารถเดินทางมายังสหภาพยุโรปได้ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สมาชิกอียูทั้ง 27 ประเทศหารืออย่างหนักว่าจะทำอย่างไรให้การเดินทางทั้งภายในกลุ่มประเทศสมาชิกและที่มาจากภายนอกเป็นได้ง่ายขึ้น โดยอียูได้แนะนำประเทศสมาชิกทั้งหมดให้เริ่มผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทางต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นไป สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วันก่อนเดินทางมาถึงพื้นที่อียู

นอกจากนั้น อียูยังวางแผนเริ่มใช้งานใบรับรองโควิด-19 แบบดิจิทัล ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นไปด้วย เพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่ประจำพรมแดนสามารถตรวจสอบสถานะของนักเดินทางว่า ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วหรือไม่ มีผลตรวจการติดเชื้อล่าสุดเป็นอย่างไร หรือมีใบรับรองการฟื้นตัวจากอาการป่วยโควิดหรือไม่ แต่ มีประเทศสมาชิก 7 ประเทศ ซึ่งรวมถึง กรีซ และ โครเอเชีย ที่ตัดสินใจออกเอกสารที่เรียกว่าเป็น พาสปอร์ตวัคซีน มาใช้งานก่อนกำหนดดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม สมาชิกรัฐสภาอังกฤษบางรายแสดงความสงสัยว่า การที่อียูยังไม่เพิ่มชื่ออังกฤษเข้าในรายชื่อประเทศสีขาว อาจเป็นเพราะความขุ่นข้องหมองใจจากประเด็นเบร็กซิต แม้ว่าสถานการณ์ในประเทศจะดีขึ้นจนเข้าเกณฑ์ของอียูแล้ว ขณะที่ อียู อ้างว่า ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสกลายพันธุ์ที่แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วในอังกฤษอยู่

ขณะเดียวกัน อังกฤษเองถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากกลุ่มประเทศยุโรปตอนใต้ ที่ไม่ยอมเพิ่มชื่อประเทศเหล่านั้นเข้าไปในรายชื่อ “ประเทศสีเขียว” ซึ่งหมายถึง มีความปลอดภัยให้เดินทางได้ ทำให้ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศดังกล่าว ซึ่งรวมถึงชาวอังกฤษเอง ต้องทำการตรวจการติดเชื้อ 2 ครั้งเมื่อเดินทางมาถึง และต้องแยกตัวอยู่ภายในบ้านของตนเป็นเวลา 10 วัน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวไม่ต้องการมาอังกฤษในช่วงนี้

ส่วนที่สหรัฐฯ รัฐบาลของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ยังไม่มีคำสั่งยกเลิกการห้ามผู้ที่มาจากประเทศสมาชิกอียู ทั้ง 27 ประเทศ และจากสหราชอาณาจักร เดินทางเข้าสหรัฐฯ แต่เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ เปิดเผยว่า อาจมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายดังกล่าวในเร็วๆ นี้แล้ว