เมื่อวันพฤหัสบดี ผู้นำประเทศยุโรปในแถบทะเลบอลติกและยุโรปกลางระบุว่า สหภาพยุโรป หรือ อียู ถูกรัสเซียข่มเหงหลายครั้ง และประเทศยุโรปต้องร่วมมือกันออกมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
คำเตือนกลางวงประชุมสุดยอดอียูครั้งนี้เป็นท่าทีที่ตรงไปตรงมาที่สุดครั้งหนึ่งในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรที่เป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต้ กำลังหาทางยับยั้งการโจมตียูเครนของรัสเซียที่อาจเกิดขึ้นอยู่
ทั้งนี้ สมาชิกนาโต้หลายประเทศก็เป็นสมาชิกของอียูด้วยเช่นกัน
สถานการณ์ในยูเครนยังคงเป็นประเด็นใหญ่ระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตก โดยสหรัฐฯ ระบุว่า รัสเซียวางกองกำลังกว่า 100,000 นายตามชายแดนยูเครน ซึ่งอาจเป็นการเตรียมรุกรานยูเครน ขณะที่รัสเซียระบุว่าตนมีสิทธิ์เคลื่อนย้ายกองกำลังในดินแดนของตนเองตามความเหมาะสม และยืนยันว่าการวางกำลังครั้งนี้มีขึ้นเพื่อป้องกันตนเองเท่านั้น
ร่างแถลงการณ์ของการประชุมสุดยอดที่สำนักข่าวรอยเตอร์ได้รับ ระบุว่า ผู้นำชาติอียูจะเตือนถึง “ผลกระทบอย่างใหญ่หลวง” หากรัสเซียจะรุกรานยูเครน โดยสหรัฐฯ และอังกฤษมีจุดยืนดังกล่าวเช่นกัน
พลเอก เยนส์ ชโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต้ ระบุในวันพฤหัสบดีด้วยว่า รัสเซียยังคงเพิ่มกองกำลังตามชายแดนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีทั้งกองกำลังพร้อมรบ รถถัง ปืนใหญ่ หน่วยเสริมเกาะ โดรน และระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ ตามชายแดนยูเครน
รัฐบาลรัสเซียปฏิเสธข้อกล่าวหาของชาติตะวันตก รวมถึงแผนรุกรานยูเครน โดยระบุว่า รัสเซียมีผลประโยชน์ด้านความมั่นคงอย่างชอบธรรมในภูมิภาค และเมื่อวันพุธ รัสเซียยื่นข้อเสนอต่อสหรัฐฯ ว่า นาโต้ไม่ควรขยายกองกำลังมาทางตะวันออก หรือวางระบบอาวุธใหม่ใกล้ชายแดนรัสเซีย
“สถานการณ์อันตราย”
อย่างไรก็ตาม ประเทศเพื่อนบ้านของรัสเซียในแถบทะเลบอลติก กลับระบุว่า รัสเซียพยายามลดเส้นกั้นระหว่างสันติภาพและสงคราม เช่น ประธานาธิบดี กิตานัส นาวเซดา ของลิทัวเนีย ที่ระบุว่า สถานการณ์นี้อาจเป็นอันตรายที่สุดในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา และกังวลว่า รัสเซียอาจใช้เบลารุสเป็นพื้นที่โจมตีประเทศเพื่อนบ้าน
ทั้งนี้ มาตรการลงโทษร่วมกันของประเทศสมาชิกอียูอาจขึ้นอยู่กับเยอรมนี โดยนายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ ผู้นำคนใหม่ของเยอรมนี เป็นนักการเมืองสายซ้ายกลาง และมีนโยบายที่แข็งกร้าวกว่านางอังเกลา แมร์เคิล อดีตผู้นำคนก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในแวดวงนักการทูตระบุว่า เยอรมนีจะต้องตัดสินใจว่า จะยอมเสี่ยงเผชิญปัญหาขาดแคลนแก๊สธรรมชาติจากรัสเซียในช่วงฤดูหนาวหรือไม่ หากตัดสินใจท้าทายรัสเซียในครั้งนี้
ก่อนหน้านี้ กลุ่มชาติตะวันตกเคยออกมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย เมื่อปี ค.ศ. 2014 จากกรณีผนึกแคว้นไครเมียจากยูเครน โดยมาตรการดังกล่าวพุ่งเป้าไปที่ภาคพลังงาน ธนาคาร และการทหารของรัสเซีย
(ที่มา: สำนักข่าวรอยเตอร์)