Your browser doesn’t support HTML5
ความเชื่อเรื่องมนุษย์ต่างดาวยังคงเป็นหัวข้อที่คนจำนวนมากในวงการวิทยาศาสตร์ รอคอยที่จะเห็นหลักฐานที่ยืนยันได้อย่างแท้จริง
การรอคอยนี้คงจะยังไม่จบง่ายๆ เพราะนักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Cornell ที่สหรัฐฯ บอกว่า อีกประมาณ 1,500 ปี เราอาจได้รับการติดต่อจากมนุษย์ต่างดาว
คณะผู้วิจัยอธิบายรายละเอียดที่การประชุมด้านดาราศาสตร์ของสมาคม American Astronomical Society ที่เมือง San Diego เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พวกเขาใช้สองทฤษฎีมาคำนวณระยะเวลากว่าที่โลกอาจจะได้รับการติดต่อจากเพื่อนร่วมจักรวาล
ทั้งสองทฤษฎีนี้ช่วยอธิบายว่า ทำไมการรอคอยนี้จึงอาจยาวนานกว่าหนึ่งพันปี
ทฤษฎีแรกชื่อว่า Fermi Paradox ที่กล่าวว่า มีดวงดาวนับพันล้านดวงที่คล้ายโลกในหลายๆ ด้าน แต่ไม่มีการติดต่อใดๆ ที่เราโลกสามารถจับสัญญาณได้
ความขัดกันในตัวเองที่ทฤษฎีดังกล่าวพยายามชี้ให้เห็นคือ มีความเป็นไปได้อย่างมากที่ควรมีการติดต่อจากดวงดาวอื่นมายังโลก แต่กรณีดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้น
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า กาแล็กซี่ของเรามีดวงดาวมากมาย และยังถือว่าเป็นกาแล็กซี่ขนาดไม่ใหญ่เมื่อเทียบกับกาแล็กซี่อื่นๆ ในจักรวาลอันกว้างใหญ่
อีกทฤษฎีหนึ่งเรียกว่า Mediocrity Principle ซึ่งเป็นหลักการตั้งแต่สมัยของ Copernicus เมื่อศตวรรษที่ 16 ซึ่งบอกว่า ลักษณะทางกายภาพของโลกไม่มีความพิเศษโดดเด่นแต่อย่างใด ดังนั้นจึงไม่น่าเป็นที่สังเกตของมนุษย์ต่างดาวง่ายๆ
แต่ที่ผ่านมามนุษย์ก็ไม่หยุดที่จะส่งสัญญาณบอกเพื่อนร่วมจักรวาลว่าที่นี่คุณมีเพื่อนอยู่
ปัญหาคือสัญญาณเหล่านี้เพิ่งใช้เวลาเดินทางไปเพียง 80 ปี และถึงที่หมายที่ดาวเพียง 8,500 กว่าดวง ในจำนวนนั้นมี 3,555 ดวงที่คล้ายโลก จากสองแสนล้านดวงในทางช้างเผือกซึ่งก็คือกาแล็กซี่ของเรา ยังไม่นับดาวจำนวนมหาศาลในกาแล็กซี่อีกมากมาย
และถึงแม้มนุษย์ต่างดาวจะรับทราบว่ามีสัญญาณส่งไป คงต้องใช้เวลาเช่นกันในการแปลข้อมูล
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Cornell กล่าวว่า แม้ว่าเรารออีก 1,500 ปี ก็เป็นไปได้ว่าเราอาจยังคงไม่ได้รับการติดต่อใดๆ จากมนุษย์ต่างดาว เพราะนั่นเป็นเพียงแค่ระยะเวลาที่เราสามารถส่งสัญญาณถึงดาวเพียงครึ่งหนึ่งของกาแล็กซี่
กว่าจะถึงวันที่ได้ยินเสียงตอบกลับจากอีกอารยธรรม เราคงต้องเชื่อต่อไปว่าเราไม่มีเพื่อนอยู่ดาวดวงอื่น แต่ถ้าใครยังคงเชื่อว่าเราไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว ก็คงต้องยังจับสัญญาณต่อไปว่าเมื่อไรจะมีเสียงเรียกจากดาวกันไกลโพ้นที่ไหนสักดวงหนึ่ง
(รายงานโดย Ken Bredemeier / เรียบเรียงโดย รัตพล อ่อนสนิท)