เก้าอี้เมียนมาถูกเว้นว่าง ระหว่างการประชุมสุดยอดสหรัฐฯ-อาเซียน  

Leaders from the Association of Southeast Asian Nations (ASEAN) pose with President Joe Biden in a group photo on the South Lawn of the White House in Washington, May 12, 2022.

โฆษกของสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ยืนยันกับวีโอเอว่า รัฐบาลสหรัฐฯ และผู้นำชาติอาเซียนตกลงเว้นว่างเก้าอี้ของเมียนมา ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐฯ-อาเซียน ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เป็นเจ้าภาพ ในกรุงวอชิงตัน

เจ้าหน้าที่อาวุโสอีกรายของสหรัฐฯ ระบุว่า เมียนมาจะเป็นประเด็นสำคัญในการประชุมครั้งนี้ โดยเก้าอี้ที่ถูกเว้นว่างนี้สะท้อนถึงความไม่พอใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และ “ความหวังต่อเส้นทางข้างหน้า” ของบรรดาผู้นำ

เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ ยังแสดงความไม่พอใจที่รัฐบาลทหารเมียนมายังคงละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อไป แม้อาเซียนจะได้ข้อสรุปฉันทามติ 5 ข้อเพื่อนำไปสู่สันติภาพเมื่อปีที่แล้วก็ตาม

สหรัฐฯ สนับสนุนฉันทามติหลายประการ รวมถึงแผนของมาเลเซียที่เสนอให้อาเซียนเปิดช่องทางสื่อสารอย่างไม่เป็นทางการกับรัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติ หรือ National Unity Government (NUG) ของรัฐบาลพลเรือนพลัดถิ่นของเมียนมาที่ถูกโค่นอำนาจไป แผนดังกล่าวถูกรัฐบาลทหารเมียนมาประณามอย่างรวดเร็ว

จุง พัค รองผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวกับวีโอเอว่า สหรัฐฯ ยังคงกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ในเมียนมาเนื่องจากความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น โดยสหรัฐฯ ยังคงทำงานกับประเทศอาเซียนเพื่อหาหนทางให้เมียนมากลับคืนสู่ประชาธิปไตย และต้อนรับข้อเสนอและความร่วมมือกับทุกฝ่าย

เกรกอรี บี โพลิง นักวิจัยด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำศูนย์ Center for Strategic and International Studies ระบุว่า ฉันทามติ 5 ข้อดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากชาติสมาชิกอาเซียนยังคงทำงานกับรัฐบาลทหารเมียนมา ทั้งที่กองกำลังฝ่ายรัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติและกองกำลังชาติพันธุ์ติดอาวุธได้รับชัยชนะส่วนใหญ่ในประเทศ การที่ไม่เปิดช่องทางติดต่อกับรัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติจึงเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลมากขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ เจ้าหน้ากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มีกำหนดการพบกับผู้แทนจากรัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติระหว่างการประชุมสุดยอดครั้งนี้

ภาวะ “ทางสองเเพร่ง"ในการประชุมสุดยอด

นอกจากประเด็นเมียนมาแล้ว การประชุมสุดยอดนี้ยังสะท้อนถึงภาวะ “ทางสองเเพร่ง" ที่ผู้นำสหรัฐฯ เผชิญ ในการรักษาสมดุลระหว่างการรับมืออิทธิพลจีนในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก และการให้ความสำคัญกับประเด็นสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

ปธน.ไบเดนยังต้องเป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารมื้อค่ำที่ทำเนียบขาวแก่เหล่าผู้นำอาเซียน รวมทั้งนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ของกัมพูชา ที่เป็นประธานอาเซียนแบบหมุนเวียนในครั้งนี้ ช่วงเวลาที่ผู้นำกัมพูชาผู้นี้อยู่ในอำนาจมาเกือบ 40 ปีเต็มไปด้วยการทุจริต การกดขี่และการใช้ความรุนแรง

ผู้นำประเทศอื่นๆ ในอาเซียนยังมีประเด็นที่เป็นความท้าทายต่อนโยบายส่งเสริมประชาธิปไตยของสหรัฐฯ เช่นกัน เช่น สุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ ของบรูไน ที่ทรงครองราชย์มาตั้งแต่ปีค.ศ. 1967 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหมของไทย ที่ดำรงตำแหน่งต่อจากการเลือกตั้งเมื่อปีค.ศ. 2019 หลังยึดอำนาจจากการรัฐประหารเมื่อปีค.ศ. 2014 ขณะที่ ลาวและเวียดนามมีพรรคการเมืองปกครองเพียงพรรคเดียว

Indonesian President Joko Widodo attends the US- Association of Southeast Asian Nations (ASEAN) Special Summit, in Washington on May 12, 2022.

แม้แต่อินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศประชาธิปไตย ก็มีข่าวลือว่า ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด้ กำลังพยายามเปลี่ยนรัฐธรรมนูญเพื่อให้เขาดำรงตำแหน่งต่อได้ในสมัยที่สาม ขณะที่ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตรเต้ ของฟิลิปปินส์ ไม่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ โดยเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ลูกชายของอดีตเผด็จการเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จะเข้าดำรงตำแหน่งผู้นำต่อจากเขา

นักเคลื่อนไหวระบุว่า การที่รัฐบาลสหรัฐฯ เชิญผู้นำเหล่านี้เข้าร่วมประชุม เป็นการสื่อว่า สหรัฐฯ จะทนต่อประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพื่อแลกกับการกระชับพันธมิตรเพื่อรับมือกับจีน

ซาราห์ เจเกอร์ ผู้อำนวยการขององค์กร Human Rights Watch ในกรุงวอชิงตัน ระบุว่า ภาพที่ผู้นำสหรัฐฯ ยืนอยู่เคียงข้างผู้นำชาติอาเซียนที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน จะเป็นภาพจำของการประชุมครั้งนี้ โดยต่อไป ปธน. ไบเดนอาจประณามผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนในกัมพูชา เวียดนาม และประเทศอื่นๆ เพื่อรักษาจุดยืนของสหรัฐฯ แต่ทางทำเนียบขาวก็ยังไม่ได้ส่งข้อความที่ชัดเจนในประเด็นดังกล่าวแต่อย่างใด

Human Rights Watch ระบุว่า การเชิญผู้นำอาเซียนเหล่านี้มายังทำเนียบขาวเป็นสิ่งที่แย้งกับนโยบายฟื้นฟูประชาธิปไตยที่เป็นประเด็นหลักของการประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตยที่ ปธน. ไบเดนเป็นเจ้าภาพเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา

องค์กรสิทธิมนุษยชนนี้ยังระบุในจดหมายถึงผู้นำสหรัฐฯ ด้วยว่า เป้าหมายของการประชุมครั้งนี้จะบรรลุไม่ได้ หากไม่มีการระบุถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่ย่ำแย่ลง และการถอยหลังของประชาธิปไตย ทั้งจากการรัฐประหารในเมียนมาเมื่อปีที่แล้ว การเสื่อมถอยของสถาบันประชาธิปไตยในไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ รวมถึงการขาดประชาธิปไตยในเวียดนาม ลาว บรูไน และกัมพูชา

President Joe Biden and leaders from the Association of Southeast Asian Nations (ASEAN) arrive for a group photo on the South Lawn of the White House in Washington on May 12, 2022.

ผู้สังเกตการณ์รายอื่นๆ ระบุว่า การประชุมสุดยอดครั้งนี้เป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้นำสหรัฐฯ เดินหน้าความสัมพันธ์กับบรรดาผู้นำที่มีประวัติละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น นายกฯ ฮุน เซน ในเวทีพหุภาคีเช่นนี้ ซึ่งอาจเป็นการยากที่สหรัฐฯ จะจัดประชุมแบบทวิภาคีกับผู้นำประเทศในลักษณะนี้

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คณะกรรมาธิการต่างประเทศของวุฒิสภาสหรัฐฯ เสนอมติวุฒิสภาเรียกร้องให้ประเทศอาเซียนให้ความสำคัญกับประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และธรรมาภิบาล จากสถานการณ์ประชาธิปไตยถดถอยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์บางส่วนเห็นว่า สหรัฐฯ อาจต้องระวังไม่กดดันชาติอาเซียนจนเกินไป เนื่องจากสหรัฐฯ เองก็มีปัญหาประชาธิปไตยในประเทศตนเองเช่นกัน เช่น เหตุบุกอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้ว โดยกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ไม่ยอมรับชัยชนะของ ปธน.ไบเดน

ข้อริเริ่มมูลค่า 150 ล้านดอลลาร์

รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศข้อริเริ่มมูลค่า 150 ล้านดอลลาร์ ระหว่างการประชุมสุดยอดเมื่อวันพฤหัสบดี โดยสหรัฐฯ ระบุว่า ข้อริเริ่มดังกล่าวจะกระชับความสัมพันธ์สหรัฐฯ–อาเซียน เสริมสร้างความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน และขยายศักยภาพเพื่อบรรลุจุดประสงค์รวม

เมื่อวันพฤหัสบดี ผู้นำชาติอาเซียนพบกับสมาชิกสภาของสหรัฐฯ ทั้งจากพรรคริพับลีกันและพรรคเดโมแครต โดยพวกเขาพบกับจีน่า ไรมอนโด รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ แคเธอรีน ไท ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ และผู้นำภาคธุรกิจของสหรัฐฯ ระหว่างมื้ออาหารกลางวันที่จัดโดยสภาธุรกิจสหรัฐฯ – อาเซียน ก่อนที่ผู้นำสหรัฐฯ จะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำที่ทำเนียบขาว

การประชุมสุดยอดวันที่สองจัดขึ้นที่ทำเนียบขาว โดยมี ปธน. ไบเดน รองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส และแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมด้วย

  • ที่มา: วีโอเอ