Your browser doesn’t support HTML5
แนวคิดเกี่ยวกับEducation Diplomacy หรือการใช้การศึกษาเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น กำลังได้รับความสนใจในเวทีระดับนานาชาติอย่างมาก โดยเฉพาะบทบาทของไทย
รศ. พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการสภาการศึกษาของไทย เดินทางเข้าร่วมงานเสวนา สถาบันเพื่อการทูตด้านการศึกษาโลก หรือ Institute for Global Education Diplomacy ที่กรุงวอชิงตันเมื่อเร็วๆนี้ โดยได้รับเชิญจากองค์กรการศึกษาระดับนานาชาติให้เป็นผู้อภิปรายเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับบทบาทการใช้การศึกษาเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือ Education Diplomacy ของไทย
เลขาธิการสภาการศึกษาของไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษกับวีโอเอภาคภาษาไทยว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยค่อนข้างมีบทบาทในด้าน Education Diplomacy มาตลอด โดยเฉพาะในระดับภูมิภาค สถาบันการศึกษาของไทยหลายแห่ง โดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษาเป็นช่องทางแลกเปลี่ยนความรู้และวัฒนธรรม ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาชาวต่างชาติที่จบการศึกษาในประเทศไทยกลายเป็นบุคคลสำคัญในประเทศสมาชิกอาเซียนแล้วหลายคน
แนวคิดเกี่ยวกับ Education Diplomacy หรือ การใช้การศึกษาเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น ได้รับความสนใจในเวทีระดับนานาชาติอย่างมาก โดยเฉพาะในการเสวนาครั้งนี้ มุ่งส่งเสริมให้นักการศึกษา นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่ตัวแทนจากประเทศต่างๆทั่วโลกได้มีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ สร้างเครือข่าย และทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดนี้ให้มากขึ้น
เลขาธิการสภาการศึกษาของไทย ย้ำว่า แม้ไทยจะมีบทบาทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในด้าน Education Diplomacy มาตลอด แต่สิ่งที่ท้าทายในอนาคต คือการเตรียมการสำหรับการเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน
นอกจากจะร่วมงานเสวนาทางวิชาการแล้ว เลขาธิการการศึกษาของไทย ยังได้ร่วมหารือกับตัวแทนฝ่ายการศึกษาของสหรัฐฯ ทั้งจากกระทรวงการต่างประเทศ และสถาบันเพื่อการส่งเสริมการศึกษาของสหรัฐเพื่อที่จะสร้างความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ โดยเฉพาะการส่งเสริมให้บุคลากรหรือนักเรียนอเมริกันเดินทางมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และศึกษาในประเทศไทยมากขึ้น
โครงการความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไทย-สหรัฐฯ จะมีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น หลังสภาการศึกษาของไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมและเสวนาในด้านการพัฒนาศึกษาระหว่าง 2 ประเทศในปีพุทธศักราช 2559 โดยนอกจากจะติดตามความคืบหน้าในประเด็นการทูตการศึกษาหรือ Education Diplomacy แล้วยังมุ่งการถอดบทเรียนโครงการและแนวทางการศึกษาของสหรัฐอีกด้วย