นโยบายเศรษฐกิจของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ได้เป็นความลับต่อสาธารณชนแต่อย่างใด แต่คำถามว่าเขาจะเดินหน้าไปตามแนวทางที่ประกาศไว้เพียงใดนั้นยังคงไม่มีความชัดเจน
ตัวอย่างที่ทรัมป์สัญญาว่าจะทำในรัฐบาลใหม่ มีทั้งขยายและเพิ่มมาตรการลดหย่อนภาษี ผ่อนคลายข้อกำกับทางธุรกิจโดยเฉพาะในภาคพลังงาน ตั้งกำแพงการค้า รวมถึงนำผู้อพยพผิดกฎหมายออกจากประเทศขนานใหญ่
การเดินหน้าตามแนวทางเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีเงื่อนไขที่นักวิเคราะห์จับตามอง ทั้งในฐานะของความท้าทายและสัญญาณที่น่าห่วงกังวล
นโยบายภาษี
เมื่อปี 2017 รัฐบาลทรัมป์ 1.0 ออกกฎหมาย Tax Cuts and Jobs Act ซึ่งมีบทบัญญัติให้ลดหย่อนภาษีเงินได้ของแรงงานและกลุ่มธุรกิจชั้นนำ โดยสิทธิประโยชน์ในบทบัญญัตินี้จะทยอยหมดอายุตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป
รัฐบาลทรัมป์ 2.0 ดูมีทีท่าจะร่วมกับสภานิติบัญญัติที่พรรครีพับลิกันสามารถครองเสียงข้างมากได้ทั้งสองสภา เพื่อทำให้การลดหย่อนภาษีดำรงอยู่ตลอดไป
ไม่เพียงเท่านั้น ทรัมป์ยังประกาศว่าจะเพิ่มเพดานลดหย่อนภาษีธุรกิจสูงสุดที่ 15% และไม่หักภาษีรายได้จากงานล่วงเวลา (โอที) ทิป และเงินได้จากประกันสังคม หรือ social security payment
Your browser doesn’t support HTML5
สตีเวน บี คามิน ผู้เชี่ยวชาญจาก American Enterprise Institute สถาบันที่มีจุดยืนโน้มเอียงไปทางอนุรักษ์นิยม คาดว่านโยบายนี้จะทำให้รัฐบาลต้องกู้ยืมเงินมาทดแทนรายได้จากภาษีที่สูญเสียไป
เขาระบุว่า “ท้ายที่สุดนั่นน่าจะนำไปสู่การสูญเสียการลงทุนภาคเอกชน อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น และความกังวลเรื่องจุดยืนด้านความยั่งยืนของรัฐบาล” แต่ก็ทิ้งท้ายว่า ยังบอกไม่ได้ว่าระดับหนี้ที่เข้าข่ายน่ากังวลนั้นอยู่ที่จุดใด
ลดต้นทุนภาครัฐ
ทรัมป์เสนอลดค่าใช้จ่ายภาครัฐเพื่อชดเชยรายได้ที่เสียไปจากภาษี และมีแผนจะให้มหาเศรษฐีอิลอน มัสก์ ดูแลกระทรวงใหม่เกี่ยวกับประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาลกลาง
มัสก์กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่จะลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลกลางลงได้มากถึง 30% ต่อปี คิดเป็นมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์
การหั่นงบประมาณขนานใหญ่เช่นนี้จำเป็นต้องไปตัดงบในหลายภาคส่วน รวมถึงเงินประกันสังคม และโครงการประกันสุขภาพที่ภาครัฐอุดหนุน (Medicaid) ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าทรัมป์จะโน้มน้าวให้สมาชิกสภาคองเกรสของพรรครีพับลิกันผลักดันการตัดงบประมาณแบบกว้างขวางเช่นนี้ได้อย่างไร
นโยบายด้านผู้อพยพ
ทรัมป์ประกาศในการหาเสียงหลายครั้งว่าจะดำเนินการส่งผู้อพยพที่อยู่ในสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมายออกจากประเทศขนานใหญ่
ในความเห็นของมาร์คัส โนแลนด์ รองประธานบริหารจากสถาบัน Peterson Institute for International Economics มองว่าการทำเช่นนั้นเป็นการดึงแรงงานออกจากเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคส่วนก่อสร้างและเกษตรกรรม และทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น
โนแลนด์กล่าวว่า “คนเหล่านี้กระจุกตัวในภาคเกษตรกรรม ซึ่งคุณจะไปกระทบภาคส่วนนั้นที่สุด โดยเฉพาะเมื่อผนวกเข้ากับกำแพงภาษี”
ตั้งกำแพงภาษี
ตัวเลขของมาตรการทางภาษีที่ทรัมป์ใช้หาเสียง มีตั้งแต่เพิ่มภาษีสินค้านำเข้าแบบยกแผง 10% เพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 60% รวมถึงภาษีนำเข้า 25% ต่อสินค้าทุกประเภทจากเม็กซิโก
ทรัมป์ให้เหตุผลว่ากำแพงภาษีจะช่วยตรึงภาคการผลิตให้อยู่ในสหรัฐฯ ลดการขาดดุล และทำให้ราคาอาหารถูกลง
โนแลนด์จาก Peterson Institute for International Economics มองว่าการขึ้นภาษีนำเข้าตามที่ทรัมป์ตั้งใจ โดยเฉพาะกับสินค้าจากจีน จะทำให้ต้นทุนการผลิตในสหรัฐฯ สูงขึ้น
เขากล่าวด้วยว่า “การลงทุนจะลดลง และการลงทุนนั้นมีจำนวนมากใน (ภาคส่วน) วัตถุดิบอุตสาหกรรม ดังนั้น (การตั้งกำแพงภาษี) มีผลตรงกันข้ามกับสิ่งที่ผู้พูดเสนอไว้”
- ที่มา: วีโอเอ