สหรัฐฯ กับเซอร์เบียร่วมมือวิจัยคิดค้นยาบำบัดเชื้ออีโบล่า

  • Joe Capua

ទូកនេសាទនៅកំពង់ផែមួយនៅក្នុង​ក្រុង Eckernfoerde ជាប់​សមុទ្រ​បាល់ទិច ប្រទេស​អាល្លឺម៉ង់។

นักวิจัยพบว่าสารประกอบยาต้านเชื้ออีโบล่าหลายตัวในการศึกษาเบื้องต้นสร้างความหวังว่าอาจจะสามารถพัฒนาเป็นยาที่ได้ผลในอนาคต

Your browser doesn’t support HTML5

สหรัฐฯ กับเซอร์เบียร่วมมือกันวิจัยคิดค้นยาบำบัดเชื้ออีโบล่า

เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ผู้เชี่ยวชาญต่างกังวลกันว่าจำนวนผู้ติดเชื้ออีโบล่าในแอฟริกาตะวันตกอาจจะอยู่ระหว่างห้าแสนถึงหนึ่งล้านห้าแสนคน แต่โชคดีที่จำนวนผู้ติดเชื้อไม่สูงอย่างที่คาด

อย่างไรก็ตามการระบาดของเชื้ออีโบล่าหนนี้ถือว่ารุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา มีคนติดเชื้ออีโลบ่าราว 27,000 คนและเสียชีวิต 11,000 ราย และการระบาดนี้ยังไม่สิ้นสุดแม้เวลาจะผ่านไปปีกว่าแล้วก็ตาม ในขณะที่ไลบีเรียได้รับการประกาศว่าปลอดจากการระบาด เซียร่าลีองและกินียังมีประสบกับการระบาดของโรคอยู่

หลายคนเห็นว่าจำเป็นต้องมีวิธีการป้องกันการระบาดและการควบคุมโรคที่ดีกว่านี้ เพื่อรับมือกับการระบาดในอนาคต การทดสอบวัคซีนป้องกันโรคยังเดินหน้าต่อไป เช่นเดียวกับการทดสอบคุณภาพยาบำบัดโรคตัวใหม่ๆ

ตัวอย่างความร่วมมือที่เกิดขึ้นได้แก่ ความร่วมมือระหว่างสำนักงาน U.S. Defense Threat Reduction Agency กับกระทรวงวิทยาศาสตร์และการพัฒนาทางเทคนิคแห่งประเทศเซอร์เบีย ได้จัดสรรทุนในการศึกษากลุ่มสารที่เรียกว่า diazachrysenes การวิจัยเกี่ยวกับคุณสมบัติของสารประเภทนี้ครั้งแรกแสดงให้เห็นว่าหนูทดลองที่ได้รับสารทดลองหนึ่งในสามชนิดรอดชีวิตจากการติดเชื้ออีโบล่าและไม่แสดงอาการข้างเคียงของยา

ศาสตราจารย์ Bogdan Solaja ผู้เชี่ยวชาญด้าน organic chemistry แห่งมหาวิทยาลัย Belgrade เป็นหนึ่งในสมาชิกทีมวิจัยกล่าวว่ามีสารประกอบยาหลายชนิดที่รู้กันดีว่าใช้ต้านเชื้ออีโบล่าได้ แต่การพัฒนาสารที่มีคุณสมบัติต้านเชื้ออีโบล่าให้กลายเป็นยารักษาโรคได้นั้นต้องใช้เวลาอีกนาน

เขากล่าวว่าสารประกอบยาชนิดต่างๆที่ทางทีมวิจัยค้นพบมีประสิทธิภาพในการต้านเชื้ออีโบล่าในหนูทดลอง สามารถรักษาหนูทดลองที่ติดเชื้อได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์

แต่แม้ว่าผลการศึกษาจะออกมาในทางที่ดี ยังจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลอีกหลายอย่างเกี่ยวกับสารประกอบยาเหล่านี้รวมถึงความเป็นพิษ คุณ Solaja กล่าวว่าสารประกอบยาที่ศึกษาเหล่านี้ไม่มีพิษ แต่เขายังไม่ยอมเปิดเผยว่าสารเหล่านี้มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมในคนไข้หรือไม่ แม้จะรู้คำตอบเเล้วก็ตาม

คุณ Solaja อธิบายว่าสารประกอบยาเหล่านี้ละลายน้ำได้เหมือนกับเกลือและใช้ผสมน้ำก่อนรับประทานก็ได้ แม้ว่ามักจะผสมยาด้วยส่วนผสมของน้ำกับสาร dimethyl sulfoxide ซึ่งเป็นสารทำละลายที่เป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้จากอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้เป็นสารที่นำไปผสมกับสารชนิดอื่นๆ เพื่อช่วยให้ดูดซึมได้เร็วขึ้น

ศาสตราจารย์ Solaja กล่าวว่าเป้าหมายคือการผลิตยาบำบัดการติดเชื้ออีโบล่าที่ใช้ได้ทั้งในแง่การป้องกันและการรักษา คล้ายกับยาต้านมาลาเรียและยาต้านไวรัสเอดส์

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลการวิจัยเบื้องต้นจะเป็นที่น่าพอใจ ศาสตราจารย์ Solaja ชี้ว่ายังต้องใช้เวลาอีกนานก่อนที่ยาบำบัดอีโบล่าจะออกมาสู่ตลาด เขาประมาณว่าอาจจะใช้เวลานานถึง 10 ปีทีเดียว

ศาสตราจารย์ Solaja และทีมงานวิจัยกำลังเดินหน้างานวิจัยเรื่องนี้ต่อไปภายในค่ายทหาร Fort Detrick ในรัฐแมรี่แลนด์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานวิจัยทางการแพทย์ทหาร ซึ่งในอดีตเคยเป็นที่ตั้งของจุดศึกษาอาวุธเชื้อโรคของสหรัฐฯ ห้องแล็ปใต้ดินของที่นี่เป็นจุดศึกษาเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อคนเรามากที่สุดหลายชนิด