การบริโภคเนื้อสัตว์ป่าเป็นเรื่องปกติในแอฟริกาโดยเฉพาะในบริเวณลุ่มน้ำคองโก เชื่อกันว่าคนติดเชื้อไวรัสอีโบล่าที่ร้ายแรงถึงชีวิตจากการรับประทานเนื้อลิงที่ติดเชื้อไวรัสนี้ในปีพุทธศักราช 2519 และตั้งแต่นั้นมา เกิดการระบาดของเชื้ออีโบล่าแล้วมากกว่า 20 ครั้ง
การระบาดของเชื้ออีโบล่าในขณะนี้ในแอฟริกาตะวันตกเป็นเหตุให้คนป่วยและเสียชีวิตราว 10,000 คนแล้วตั้งแต่เริ่มระบาดมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เป็นไปได้ว่าการระบาดของเชื้ออีโบล่าหนนี้น่าจะเกิดจากที่คนได้รับเชื้อโรคผ่านค้างคาวกินผลไม้ที่ติดเชื้ออีโบล่าในเขตเมืองที่ขาดระบบสาธารณูปโภคที่ดี
ลิงกอริลล่าและลิงใหญ่ชนิดอื่นๆ สามารถติดเชื้ออีโบล่าได้หากกินผลไม้ที่ร่วงหล่นบนพื้นในป่าซึ่งปนเปื้อนมูลของค้างคาว
เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของอีโบล่าในอนาคต ทีมนักวิทยาศาสตร์กำลังพัฒนาวัคซีนป้องกันการติดเชื้ออีโบล่าในลิงกอริลล่าพันธุ์ Western Lowland ที่คนท้องถิ่นนิยมกินเนื้อ
ทีมนักวิทยาศาสตร์ใช้เชื้อไวรัสไซโตเมกะโลไวรัส หรือ CMV (cytomegalovirus) ที่ไม่อันตรายเป็นพาหะของวัคซีนอีโบล่า ไวรัส CMV เป็นตัวนำวัคซีนอีโบล่าเข้าสู่ร่างกายของลิง เนื่องจากเชื้อ CMV เป็นเชื้อไวรัส จึงแพร่กระจายได้จากลมหายใจ การสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากร่างกาย เพศสัมพันธ์ และจากการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเกือบทุกประเภทรวมทั้งคนเรามักจะติดเชื้อไซโตเมกะโลไวรัสตั้งแต่เล็กๆ ซึ่งทำให้เกิดคุ้มกันในร่างกาย ยกเว้นคนที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง
คุณ Michael Jarvis นักไวรัสวิทยาที่มหาวิทยาลัย Plymouth University ในอังกฤษ เป็นหนึ่งในทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ช่วยพัฒนาวัคซีนอีโบล่า ที่จะนำไปฉีดแก่ลิงและกอริลล่าด้วยการเป่าลูกดอก
คุณ Jarvis และสมาชิกทีมวิจัยได้อธิบายถึงยุทธวิธีที่จะใช้ในการฉีดวัคซีนอีโบล่าแก่ลิงกอริลล่านี้ในวารสาร Vaccine คุณ Jarvis กล่าวว่าจุดเด่นของวิธีการฉีดวัคซีนแก่ลิงกอริลล่าด้วยการเป่าลูกดอกนี้คือเพียงแค่เป่าลูกดอกบรรจุวัคซีนไปที่ลิงกอริลล่าบางตัวเท่านั้น
หลังจากนั้นเชื้อไวรัสไซโตเมกะโลไวรัสจะเป็นพาหะนำวัคซีนอีโบล่าจะแพร่ระบาดในหมู่ลิงกอริลล่าในฝูงโดยธรรมชาติ ลิงที่ไม่ถูกยิงลูกดอกก็จะได้รับวัคซีนอีโบล่าทางอ้อมผ่านการติดเชื้อไซโตเมกะโลไวรัสนี่เอง
มาจนถึงขณะนี้ วัคซีนอีโบล่าที่อยู่ระหว่างการพัฒนานี้ใช้ได้ผลดีในหนูทดลองและในตอนนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์กำลังทดลองวัคซีนอีโบล่ากับลิงวอกซึ่งเป็นประเภทลิงโลกเก่า (rhesus macaque)
เชื้ออีโบล่าเป็นต้นเหตุให้ลิงกอริลล่าพันธุ์ Western Lowland ตายไปแล้วถึง 30 เปอร์เซ็นต์และเป็นหนึ่งในต้นเหตุที่ทำให้กอริลล่าพันธุ์นี้อยู่ในรายชื่อสัืตว์ป่าที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
คุณ Jarvis กล่าวว่าในอดีตที่ผ่านมา การระบาดของเชื้ออีโบล่าราว 30 เปอร์เซ็นท์ของการระบาดทั้งหมด 20 หนเกิดจากการสัมผัสกับซากของลิงกอริลล่าที่ตายจากการติดเชื้ออีโบล่า เขาเชื่อว่าวัคซีนอีโบล่าจะมีศักยภาพช่วยลดความถี่ของการแพร่ระบาดของโรคนี้และลดการระบาดจากลิงสู่คนลงได้ในอนาคต
คุณ Jarvis กล่าวว่าหากเป็นไปตามแผนที่ตั้งไว้ วัคซีนอีโบล่าน่าจะพัฒนาสำเร็จภายใน 3 ถึง 4 ปีข้างหน้า