Your browser doesn’t support HTML5
หลายส่วนในภาคตะวันตกของสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับความแห้งแล้งอย่างรุนแรง ผู้อยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าวขาดแคลนน้ำ ขณะที่ไฟป่าทำลายพื้นที่ไปแล้วหลายส่วน
เมืองทางใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนียยังคงต้องเจอกับความแห้งแล้งต่อไปอีกปีหนึ่ง และผู้คนที่ได้รับผลกระทบต้องปรับตัวกับการขาดแคลนน้ำ หนึ่งในนั้นคือ Jan Muntz เธอกล่าวว่าที่บ้านต้องเปลี่ยนรูปแบบการปลูกต้นไม่ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ เพราะต้นไม้บางต้นอยู่มานานเกือบหนึ่งร้อยปีแล้ว
ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าไม้ที่อาศัยน้ำมาก มักไม่ใช่พืชท้องถิ่นของแคลิฟอร์เนีย หน่วยงานต่างๆ จึงรณรงค์ให้คนปลูกไม้พื้นเมืองที่ทนทานต่ออากาศแล้งได้ ที่ผ่านมาหลายปีการให้ข้อมูลประชาชนทำให้หลายคนเริ่มสนใจเอาพืชท้องถิ่นมาประดับสวนกันมากขึ้น
Kitty Connolly จากมูลนิธิ Theodore Payne Foundation กล่าวว่าการปลูกพืชท้องถิ่นแทนต้นไม้แต่งสวนแบบที่นิยมกัน อาจสามารถประหยัดน้ำได้ราว 50% ถึง 80%
ขณะเดียวกันนักพยากรณ์อากาศ Bill Patzert กล่าวว่า หน้าหนาวปีนี้อาจไม่มีปัญหาน้ำแล้ง เพราะมาตรการบรรเทาความแห้งแล้งที่ผ่านมาได้ผลไม่น้อยทีเดียว และเขาหวังว่าปรากฏการณ์ El Nino ที่จะมาถึงจะมาพร้อมกับฝนที่มากขึ้นช่วงปลายปี
El Nino เป็นปรากฏการณ์การอุ่นขึ้นของน้ำในทะเลแปซิฟิค และนักวิทยาศาสตร์คาดว่าจะเกิด El Nino ครั้งใหญ่ปลายปีนี้ยาวไปถึงปีหน้า
Bill Patzert อธิบายว่า El Nino น่าจะนำฝนมาบริเวณภาคตะวันตกของสหรัฐฯ รวมถึงประเทศเปรู และเอกวาดอร์ แต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทางเหนือของออสเตรเลียน่าจะเจอกับความแห้งแล้งรุนแรง
ปกติ El Nino กินเวลาหนึ่งปี แต่ปรากฏการณ์ที่มีผลยาวนานกว่าคือการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า PDO หรือ Pacific Decadal Oscillation ซึ่งทำให้เกิดได้ทั้งความเย็นและความอุ่น
นักวิทยาศาสตร์ Nate Mantua ให้สัมภาษณ์ผ่าน Skype ว่าหาก PDO เป็นรูปแบบของการนำพาความอุ่นมาให้ จะเกิดฝนในสหรัฐฯ และตอนเหนือของเม็กซิโก ซึ่งหมายความว่าภาวะแห้งแล้งที่เป็นอยู่อาจหยุดช่วงลงได้
อย่างไรก็ตามเขายอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะคาดเดาอากาศได้อย่างแม่นยำ ในปรากฏการณ์ El Nino สองครั้งที่ผ่านมาเกิดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วไปสู่อากาศเย็น และตามมาด้วยช่วงที่ยาวนานของ PDO เขาบอกว่าความเป็นไปได้หนึ่งของปีนี้คือ สหรัฐฯ อาจมีฝนเข้ามามากกว่าปกติเป็นระยะเวลาสั้นๆ เพียงหนึ่งปี
สำหรับชาวแคลิฟอเนียที่ปรับต้นไม้ในสวนไปเรียบร้อยแล้ว พวกเขาหวังว่าสวนใหม่ที่มีพืชท้องถิ่นนี้จะสามารถทนต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ ไม่ว่าจะร้อนหรือหนาว ฝนหรือแล้งก็ตาม
(รายงานโดย Elizabeth Lee / เรียบเรียงโดยรัตพล อ่อนสนิท)
Your browser doesn’t support HTML5