การประชุมรัฐมนตรีคลังจากประเทศกลุ่มจี20 ร่วมกับผู้บริหารองค์กรและสถาบันด้านการเงินต่าง ๆ ที่อินเดียในวันอังคารที่จบลงด้วยความเห็นที่ไม่ลงรอยกันในประเด็นสงครามในยูเครน และไม่มีความคืบหน้ามากนักในเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ ขณะที่ ประธานธนาคารโลกเตือนว่า เส้นแบ่งระหว่างชาติร่ำรวยกับชาติยากจนกำลังนำมาซึ่งความเสี่ยงที่จะทำให้ภาวะยากจนทั่วโลกย่ำแย่ลง
นีรมาลา สิธารมัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอินเดีย บอกกับสื่อมวลชนว่า ที่ประชุมกลุ่มจี 20 ที่ประกอบด้วยประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ไม่สามารถตกลงในรายละเอียดของแถลงการณ์ร่วมได้ “เพราะเรายังไม่มีถ้อยคำที่ตกลงกันได้ในเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน” แต่ก็ยังสามารถบรรลุความคืบหน้าในประเด็นหลักอื่น ๆ ได้
ถ้อยแถลงของนีมาลาซึ่งรายงานโดยเอเอฟพีนั้น เกิดขึ้นหลังการประชุมรัฐมนตรีกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศสมาชิกที่เมืองกันตินาการ์ ระหว่างวันที่ 17-18 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเกิดขึ้น ในขณะที่ ความขัดแย้งในยูเครนสร้างผลกระทบใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจโลกในแง่ของราคาอาหาร และส่งผลต่อความไว้เนื้อเชื่อใจทางการทูตระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตก
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ แจเน็ต เยลเลน กล่าวย้ำเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาเกี่ยวกับการเพิ่มการสนับสนุนให้กับยูเครนเป็นสองเท่า ว่า เป็นหนทางที่ดีที่สุดเพียงหนึ่งเดียวเพื่อที่จะช่วยเหลือเศรษฐกิจโลก พร้อมระบุว่า เธอจะตอบโต้ “เสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ” เรื่องการช่วยรัฐบาลกรุงเคียฟแทนที่จะไปช่วยสนับสนุนชาติกำลังพัฒนา
และในระหว่างที่การประชุมดำเนินอยู่นั้น รัสเซียประกาศถอนตัวออกจากการเจรจาเพื่อให้ยูเครนสามารถส่งออกธัญพืชผ่านทะเลดำได้ เป็นเหตุให้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แสดงความไม่พอใจและระบุว่า ประชากรหลายล้านในประเทศที่ยากจนที่สุดจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจดังกล่าว
SEE ALSO: รัสเซียระงับข้อตกลงธัญพืชทะเลดำ หลังกล่าวหายูเครนโจมตีสะพานไครเมีย
รมต.สิธารมัน ของอินเดีย ระบุว่า มีชาติสมาชิกหลายรายประณามการตัดสินใจของรัสเซีย ขณะที่ อินอค โกดอนกวานา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแอฟริกาใต้ กล่าวว่า ประเด็นนี้ “น่าจะมีผลกระทบต่อราคาอาหาร ซึ่งจะส่งผลต่อประเทศยากจนทั้งหลายอย่างหนัก”
ทั้งนี้ เอเอฟพีรายงานว่า การพูดคุยในประเด็นยูเครน เป็นเรื่องที่กระอักกระอ่วนของอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่ทั้งไม่ประณามการรุกรานของรัสเซีย และยังเป็นสมาชิกกลุ่มจตุภาคี (Quad) ที่มีออสเตรเลีย สหรัฐฯ และญี่ปุ่นเป็นสมาชิกด้วย
ปรับโครงสร้างหนี้ไม่คืบ ห่วงความเหลื่อมล้ำขยายวง
อาเจย์ บังกา ประธานธนาคารโลก กล่าวว่า เส้นแบ่งที่ชัดเจนมากขึ้นระหว่างชาติที่ร่ำรวยและชาติที่ยากจน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ปัญหาความยากจนในประเทศกำลังพัฒนามีความเลวร้ายลง
บังกา ผู้บริหารธนาคารโลกคนใหม่ซึ่งเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย กล่าวว่า “ความไม่พอใจจากภูมิภาค Global South (ซึ่งประกอบด้วย ละตินอเมริกา แอฟริกา เอเชียและโอเชียเนีย)นั้น เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ ...(เพราะ) พวกเขากำลังควักจ่ายต้นทุนสำหรับความเจริญรุ่งเรืองของเราอยู่”
ที่ประชุมด้านการเงินของ จี 20 ยังได้หารือกันในเรื่องการปฏิรูป เรื่องภาษี กฎเกณฑ์เกี่ยวกับสกุลเงินคริปโต และการปรับตัวของภาคการเงินต่อวิกฤตการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ ของธนาคารเพื่อการพัฒนาต่าง ๆ ในระดับพหุภาคี
นอกจากนั้น ยังมีการหารือประเด็นเกี่ยวกับข้อตกลงปรับโครงสร้างหนี้สำหรับประเทศรายได้ต่ำ โดยเฉพาะเมื่อจีนซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่สองของโลกและเป็นผู้ปล่อยกู้รายใหญ่ให้แก่ประเทศรายได้ต่ำหลายประเทศในเอเชียและแอฟริกา ปฏิเสธข้อเสนอเรื่องแนวทางปรับโครงสร้างหนี้แบบครอบจักรวาล (one size fits all)
กระทรวงการคลังของจีนระบุว่า ประเทศที่เป็นผู้ให้กู้ยืมควรรับมือกับปัญหาหนี้ในแนวทางที่สอดคล้องกับหลักการที่หลายฝ่ายมีร่วมกันและไม่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และยังกล่าวด้วยว่า กลุ่มจี20 ควร “วิเคราะห์อย่างรอบด้านถึงสาเหตุของปัญหาหนี้ในประเทศที่เปราะบางด้วย”
ด้านคริสตาลินา กอร์เกียวา กรรมการผู้จัดการใหญ่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวว่า กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้จะต้องรวดเร็วและมีประสิทธิภาพกว่านี้ เพราะราคาที่ต้องจ่ายสำหรับความล่าช้านั้นตกเป็นของ “กลุ่มที่มีความสามารถรับภาระได้น้อยที่สุดไปแล้ว”
- ที่มา: เอเอฟพี