ทำเนียบขาวเตรียมการอย่างเต็มที่เพื่อต้อนรับนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย ที่เดินทางมาสหรัฐฯ เพื่อทำ “การเยือนในฐานะประมุขแห่งรัฐอย่างเป็นทางการ” (official state visit) ในสัปดาห์นี้
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และนายกฯ โมดี มีประเด็นที่ต้องพูดคุยหารือมากมาย ตั้งแต่กรณีความสัมพันธ์กับจีน ไปจนถึงสงครามในยูเครน และประเด็นในระดับทวิภาคีต่าง ๆ ท่ามกลางความคาดหวังว่า ผู้นำทั้งสองจะสามารถบรรลุข้อตกลงที่จะร่วมกันเดินหน้าผลักดันวาระสำคัญ ๆ ต่าง ๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรม
หุ้นส่วนหลัก
ในช่วงกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ ปฏิบัติต่ออินเดียเป็นเหมือนหุ้นส่วนหลักของตนมาโดยตลอด และผู้นำสหรัฐฯ ตั้งแต่สมัย อดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา และอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต่างก็เคยเดินทางเยือนอินเดียมาแล้ว ขณะที่ นายกฯ โมดี นั้นเคยเดินทางมาสหรัฐฯ แล้ว 3 ครั้ง ในปี 2014 ปี 2016 และปี 2017 เพื่อ “การเดินทางเยือนในฐานะแขกรัฐบาล” (working visit) เพื่อมา “ร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันพร้อมเจรจาหารือ” (working lunch) และ “การเดินทางเยือนในฐานะแขกรัฐบาลอย่างเป็นทางการ” (official working visit)
อย่างไรก็ดี ยังไม่เคยมีอดีตปธน.สหรัฐฯ รายได้ส่งคำเชิญในระดับสูงเท่ากับที่ปธน.ไบเดนส่งให้กับนายกฯ โมดี ในครั้งนี้มาก่อน นั่นก็คือ การเปิดทำเนียบขาวต้อนรับอย่างเต็มที่ และการจัดกองทหารเกียรติยศเต็มรูปแบบเพื่อต้อนรับและร่ำลา รวมทั้งงานเลี้ยงอาหารเย็นหรูหรา และการจัดที่พักอย่างเป็นทางการให้ที่ Blair House ซึ่งเป็นเรือนรับรองแขกอย่างเป็นทางการที่ตั้งอยู่ตรงข้ามกับทำเนียบขาว
แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า สหรัฐฯ และอินเดียนั้นมีสายสัมพันธ์พิเศษต่อกัน และต่างก็มีความกังวลเกี่ยวกับการยกระดับสรรพกำลังทางทหารของจีนพอควร ขณะที่ อินเดียเองก็เคยมีเหตุปะทะกับจีนตามแนวชายแดนมาเป็นระยะ ๆ
รมต.บลิงเคน กล่าวว่า “เรามองความสัมพันธ์ที่ก่อตัวชัดเจนนี้เป็น การเชื่อมต่ออันมีเอกลักษณ์ระหว่างประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ที่สุดของโลก โดยในเวลานี้ต่างมีภาระผูกพันที่จะต้องแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลของทั้งสองสามารถทำตามสัญญาให้กับประชาชนของตนพร้อม ๆ กับช่วยเหลือให้กำลังกับพวกเขาได้จริง”
ผลประโยชน์ด้านภูมิยุทธศาสตร์
รายงานข่าวชี้ว่า ปธน.ไบเดน มีเหตุผลอย่างน้อย 2 ข้อในการเชิญนายกฯ โมดี มาเยือนสหรัฐฯ ในฐานะประมุขแห่งรัฐอย่างเป็นทางการ ซึ่งก็คือ การยกระดับบทบาทของอินเดียในภูมิภาคเอเชียเพื่อต้านอิทธิพลจีน และการโน้มน้าวให้อินเดียเลิกพึ่งอาวุธจากรัสเซียนั่นเอง
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า สหรัฐฯ และอินเดียยังคงมีมุมมองที่เห็นต่างกันในบางเรื่องอยู่ โดยเฉพาะเมื่อนายกฯ โมดี ยังไม่อยากจะออกมาประณามมอสโกเกี่ยวกับการรุกรานยูเครน เพราะรัสเซียเป็นที่พึ่งพิงสำคัญของอินเดียในด้านน้ำมันและอาวุธ
อพาร์นา พานเด ผู้อำนวยการของโครงการ Initiative on the Future of India and South Asia ที่ Hudson Institute กล่าวว่า “รัฐบาลประธานาธิบดีไบเดนยินดีที่จะไม่สนใจหรือมองข้าม และมีหลายคนที่บอกว่า อินเดียเหมือนควรจะสนับสนุนสหรัฐฯ และหุ้นส่วนคนอื่น ๆ ในกรณีของการรุกรานไต้หวัน – อินเดียเองกลับหลีกเลี่ยงที่จะเสนอแรงสนับสนุนใด ๆ ในเรื่องดังว่า เพราะว่าอินเดียไม่ต้องการจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับประเด็นนั้นเช่นกัน แต่รัฐบาลไบเดนก็พยายามลดทอนความแตกต่างทั้งหลาย ด้วยการหันไปเน้นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้หรือมองไปในทิศทางเดียวกัน”
ในส่วนของการพึ่งพาด้านอาวุธนั้น ภาวะตึงเครียดระหว่างจีนและปากีสถานทำให้อินเดียกลายมาเป็นประเทศผู้นำเข้าอาวุธอันดับหนึ่งของโลกไปแล้ว โดยข้อมูลสถิติจาก Stockholm International Peace Research ระบุว่า ระหว่างปี 2018 ถึงปี 2022 นั้น รัฐบาลนิวเดลีสั่งซื้ออาวุธสัดส่วน 11% จากทั้งหมดที่มีการซื้อขายทั่วโลก โดยเกือบครึ่งของสรรพาวุธที่อินเดียซื้อนั้นมาจากรัสเซีย
พานเด บอกกับ วีโอเอ ด้วยว่า สงครามในยูเครนนั้นกลายมาเป็น “โอกาสเดียวในชั่วชีวิตหนึ่ง” สำหรับรัฐบาลไบเดนที่จะทำให้อินเดียเลิกพึ่งอาวุธจากรัสเซีย “เพราะการจัดหาอุปกรณ์ต่าง ๆ นั้นทำได้ไม่ง่ายเท่าใด ชิ้นส่วนก็หายาก และการใช้งานก็ไม่ได้ดีดังหวัง”
เทคโนโลยีเกิดใหม่ที่มีความสำคัญ
โร คานนา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ สังกัดพรรคเดโมแครต บอกกับ วีโอเอว่า อินเดียนั้นอยู่ในจุดที่น่าสนใจพอที่จะดึงดูดเงินลงทุนด้านเทคโนโลยีเข้าประเทศภายใต้เงื่อนไขทางภูมิรัฐศาสตร์โลกปัจจุบัน
ส.ส. คานนา กล่าวว่า “โลกทั้งโลกกำลังกังวลกับการที่ไม่มี[ประเทศมหาอำนาจ] ในเอเชีย และการที่ไม่ให้จีนมีอำนาจมากเกินไป ดังนั้น อินเดียจึงก้าวขึ้นมาเป็นตัวเลือกที่เป็นทั้งประเทศเสรีประชาธิปไตยและมีเศรษฐกิจตลาดเสรี และเราก็เห็นแล้วว่า บริษัทต่าง ๆ เช่น แอปเปิล กำลังย้ายฐานการผลิตเข้าไปในอินเดีย อินเดียมีโอกาสที่จะกลายมาเป็นศูนย์กลางเอเชียสำหรับภาคการผลิตล้ำสมัยมากมาย ขณะที่ เราเห็นว่า กำลังมีการเคลื่อนย้ายออกจากจีนกันอยู่ในเวลานี้”
ขณะเดียวกัน ริค รอสโซว์ นักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการอินเดียจาก Center for Strategic and International Studies บอกกับ วีโอเอ ว่า เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวนั้นตั้งความหวังไว้ค่อนข้างสูงในหลาย ๆ เรื่องสำหรับการเยือนสหรัฐฯ ของนายกฯ โมดี
รอสโซว์ กล่าวว่า สหรัฐฯ เชื่อว่า มีประเด็นที่เป็นรูปธรรมและน่าจะทำสำเร็จได้อยู่หลายเรื่องซึ่งจะส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศยกระดับขึ้นไปจากที่เป็นอยู่ โดยประเด็นจำนวนมากนั้นเป็นเรื่องของกิจการด้านกลาโหมและและประเด็นเรื่องเทคโนโลยีเกิดใหม่ที่มีความสำคัญทั้งหลาย ทำให้เขาเชื่อว่า หลังการประชุมระหว่างสองผู้นำในครั้งนี้ น่าจะมีการประกาศความก้าวหน้าในหลายเรื่องออกมาให้สาธารณะรับทราบ
ทั้งนี้ สหรัฐฯ พยายามจะลดการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานที่มีจีนเกี่ยวข้องมาโดยตลอด และหนทางหนึ่งที่มีการผลักดันขึ้นมาคือ การประกาศจัดตั้งโครงการ Initiative on Critical and Emerging Technology (iCET) ร่วมกับอินเดียเมื่อปีที่แล้ว
ภายใต้โครงการนี้ สหรัฐฯ และอินเดียเพิ่งเปิดตัวแผนโรดแมพการยกระดับความร่วมมือด้านเทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านกฎระเบียบและการจัดทำมาตรการควบคุมการส่งออกเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าและ “ความร่วมมือเชิงลึก” ในเรื่องที่มีความสำคัญ
ภูมิภาค Global South
ในฐานะประธานกลุ่มจี20 ประจำปี อินเดียมีกำหนดจัดการประชุมสุดยอดผู้นำจี20 ในปลายปีนี้ ซึ่งถูกจับตาแล้วว่า น่าจะมีการหารืออย่างหนักเกี่ยวกับผลประโยชน์ในภูมิภาคละตินอเมริกา แอฟริกา เอเชียและโอเชียเนีย หรือ Global South
และในระหว่างเยือนกรุงวอชิงตันในสัปดาห์นี้ คาดกันว่า ปธน.ไบเดน จะปรึกษากับนายกฯ โมดี เกี่ยวกับขยายงานเชิงรุกของกลุ่มจี7 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มจี20 เพื่อเข้าหาภูมิภาค Global South เนื่องจากความกังวลที่ว่า ในเวลานี้ จีนได้แผ่อิทธิพลของตนเข้าไปในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกอย่างขมักเขม้น ซึ่งทำให้เกิดระดับหนี้ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานที่มีความไม่ยั่งยืนในบางประเทศแล้ว
ส่วนนายกฯ โมดี นั้น มีการคาดกันว่า น่าจะหารือกับผู้นำสหรัฐฯ เกี่ยวกับการสรุปรายชื่อแขกที่จะมาร่วมการประชุมสุดยอดจี20 ซึ่งเกี่ยวกับตัวประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ที่เป็นสมาชิกของกลุ่มและตกเป็นเป้ามาตรการลงโทษของนานาชาติ เพราะผู้นำอินเดียไม่ต้องการเสี่ยงให้ผู้นำกลุ่มจี7 ทำการคว่ำบาตรไม่มาร่วมงาน
ประเด็นอื่น ๆ
นอกจากนั้น ยังมีเรื่องสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นประเด็นละเอียดอ่อนของอินเดีย โดยองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า ประวัติด้านการเคารพสิทธิพลเรือนและสิทธิทางการเมืองของนายกฯ โมดีนั้น “เสื่อมถอยอย่างชัดเจน” ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และทำเนียบขาวเผยว่า เรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของวาระการหารือทางการทูตอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่ไม่มีใครทราบว่า จะมีการหยิบยกขึ้นมาพูดคุยระหว่างการเยือนสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้หรือไม่
- ที่มา: วีโอเอ