Your browser doesn’t support HTML5
Derek Larson นักบรรพชีวินวิทยาที่พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ Philip J. Currie ในเมือง Alberta ประเทศเเคนาดา กล่าวว่า ไดโนเสาร์ขนาดเล็กที่มีลักษณะคล้ายนกในยุค Cretaceous หรือไดโนเสาร์มานีเเรปโทแรน (maniraptoran) เป็นกลุ่มไดโนเสาร์ที่ยังไม่มีใครเข้าใจอย่างถ่องเเท้
คุณ Larson ผู้เชี่ยวชาญชาวแคนาดากล่าวว่า ไดโนเสาร์พันธุ์นี้อยู่ในวงศ์เครือญาติเดียวกันกับนกยุคใหม่ โดยในตอนปลายของยุค Cretaceous ไดโนเสาร์พันธุ์นี้จำนวนมากสูญพันธุ์ไป รวมทั้งนกชนิดที่มีฟัน แต่ว่าสายพันธุ์ที่ไร้ฟันกลับอยู่รอดจากช่วงของการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์มาได้
จึงเกิดคำถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? ในเมื่อไดโนเสาร์ทั้งสองชนิดมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก ต่างกันตรงที่มีฟันกับไม่มีฟันเท่านั้น
เพื่อค้นหาคำตอบ ทีมนักวิจัยได้ทำการศึกษาซากฟอสซิลฟันจากไดโนเสาร์นก maniraptoran จำนวนมากกว่า 3,000 ชิ้น
ทีมนักวิจัยยืนยันว่าความหลากหลายของฟันของไดโนเสาร์คล้ายนกชนิดนี้ แสดงว่าไดโนเสาร์คล้ายนกมานีเเรปโทแรนอยู่ในสภาพนิเวศน์ที่อุดมสมบูรณ์มานานกว่าหลายล้านปี แต่ตายลงเพราะสภาพทางนิเวศน์เกิดการเปลี่ยนแปลงกระทันทัน เพราะได้รับผลกระทบรุนแรงจากเหตุการณ์ลูกอุกาบาตพุ่งชนโลกครั้งใหญ่ในช่วงปลายของยุค Cretaceous
คุณ Larson กล่าวว่าไดโนเสาร์นกพันธุ์มานีเเรปโทแรนได้คงความหลากหลายของมันเอาไว้ได้อย่างดีตลอดช่วง 18 ล้านปีสุดท้ายของยุค Cretaceous แต่กลับสาบสูญไปอย่างทันทีทันใดในช่วงปลายของยุค
แต่ไดโนเสาร์นกสายพันธุ์เครือญาติ ซึ่งกลายเป็นบรรพบุรุษของนกยุคใหม่ กลับอยู่รอดการสาบสูญครั้งใหญ่ของไดโนเสาร์มาได้ เนื่องจากอาหารที่มันกิน
การค้นพบนี้นำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า ไดโนเสาร์นกไร้ฟันแต่มีจะงอยปากและกินเมล็ดพืชเป็นอาหาร ได้กลายเป็นบรรพบุรุษของนกในยุคปัจจุบัน
ทีมนักวิจัยชี้ว่าจะงอยปากของนก ช่วยให้ไดโนเสาร์คล้ายนกพันธุ์นี้สามารถจิกกินเมล็ดพืชได้ช่วยให้มันอยู่รอดและวิวัฒนาการเป็นนกในปัจจุบัน
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)