รัฐบาลกรุงวอชิงตันกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจากับรัฐบาลไทยซึ่งเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิด เกี่ยวกับการอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาที่ยังติดอยู่ในไทยได้เดินทางต่อมายังสหรัฐฯ
เดริก โชลเลต์ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์กับวีโอเอว่า “เป็นเวลาหลายปีแล้วที่ไทยเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดมากของเรา ในประเด็นผู้ลี้ภัย (และ)เป็นเรื่องที่เราพูดคุยกันอยู่เป็นประจำ (โดย)ในระหว่างเยือนไทยในช่วงปีที่ผ่านมา นี่เป็นประเด็นต้น ๆ (ที่นำมาหารือ)”
โชลเลต์ กล่าวด้วยว่า ในการเดินทางเยือนไทยและบริเวณพรมแดนเมื่อปีที่แล้ว เรื่องผู้ลี้ภัย “เป็นประเด็นสนทนาที่เราหยิบยกมาคุยกัน ... และผมสามารถพูดได้ว่า (ไทยและสหรัฐฯ) มีความใกล้ชิดกันมากและเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญต่อกันในเรื่องนี้”
ข้อมูลจากหน่วยงานเอ็นจีโอหลายแห่งที่ทำงานในด้านนี้ระบุว่า มีผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาเกือบ 500 คนที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลกรุงวอชิงตันแล้วและกำลังรอคอยการเดินทางไปตั้งรกรากที่สหรัฐฯ แต่ยังติดอยู่ที่แม่สอด จังหวัดตาก เนื่องจาก รัฐบาลไทยยังไม่ได้ออกหนังสืออนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศ แม้จะรอมากว่าปีแล้ว ขณะที่ ยังมีผู้ลี้ภัยอีกราว 600 คนที่ติดอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยอื่น ๆ ซึ่งได้รับอนุญาตให้ไปตั้งรกรากในประเทศที่ 3 แล้ว แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ออกนอกไทยเช่นกัน
ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของ Human Rights Watch ระบุในอีเมลที่ส่งถึงวีโอเอว่า “ประเทศไทยทำการอันไม่จำเป็นที่ขัดขวางการเดินทางออกของผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา-พม่า มาเป็นเวลานานแล้ว” และว่า “นี่คือเวลาที่ควรยุติการปิดกั้นนี้ได้แล้ว”
ทั้งนี้ โรเบิร์ตสันเรียกร้องให้มีการกดดันรัฐบาลไทยเพิ่มขึ้น โดยกล่าวว่า “รัฐบาลสหรัฐฯ ควรเพิ่มแรงกดดันขึ้นอีกสองเท่าต่อกรุงเทพฯ (รัฐบาลไทย) เพื่อให้เริ่มออกหนังสืออนุญาตให้เดินทางออกนอกไทยให้กับผู้ลี้ภัยที่ได้รับ(สถานภาพผู้ลี้ภัย)จากเมียนมาแล้ว เพราะประเทศไทยไม่ได้กระตือรือร้นที่จะทำเช่นนั้น และยังคงจะลากประเด็นนี้ต่อไป ถ้าทำได้”
วีโอเอส่งอีเมลไปที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยเพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับประเด็นความล่าช้าในการออกเอกสารที่ว่า แต่ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับ
กลุ่มเอ็นจีโอที่ให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยระบุว่า มีคนกว่า 20,000 คนที่ลี้ภัยมายังประเทศไทยเนื่องจากเกรงกลัวการกดขี่ข่มเหงทางการเมือง หลังกองทัพก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี ค.ศ. 2021 โดยราว 11,000 คน ได้ติดต่อขอความช่วยเหลือไปยังสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) แล้ว
รายงานข่าวระบุว่า ในช่วงแรก ผู้ลี้ภัยจากเมียนมาที่หนีมาไทยมักได้รับอนุญาตให้เดินทางผ่านสนามบินของไทยไปยังประเทศที่ 3 ที่ออกเอกสารรับรองการย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากในประเทศของตนแล้ว แต่หลังไม่กี่เดือนผ่านไป รัฐบาลไทยสั่งระงับการเดินทางออกนอกประเทศของผู้ลี้ภัยเหล่านั้น
สหรัฐฯ ยอมรับผู้ลี้ภัยจากเมียนมาหลายร้อยคนเข้าประเทศตั้งแต่หลังกองทัพก่อรัฐประหารในปี ค.ศ. 2021
- ที่มา: วีโอเอ