ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผู้ลี้ภัยนับพันจากเมียนมายังรอทางการไทยส่งตัวไปประเทศที่ 3


Displaced people from Myanmar live under a makeshift tent along the Thai side of the Moei River in Mae Sot, Thailand on Feb. 7, 2022.
Displaced people from Myanmar live under a makeshift tent along the Thai side of the Moei River in Mae Sot, Thailand on Feb. 7, 2022.

ผู้อพยพลี้ภัยจากเมียนมาจำนวนหลายพันคนที่ติดค้างอยู่ในประเทศไทยมาเป็นเวลากว่า 1 ปี ยังคงรอคอยการตัดสินใจของรัฐบาลไทยที่จะเปิดทางให้ตนได้เดินทางต่อไปยังประเทศที่ 3 อยู่

ข้อมูลจากหน่วยงานเอ็นจีโอหลายกลุ่มระบุว่า สหรัฐฯ และหลายประเทศอนุญาตให้ชาวเมียนมานับพันซึ่งได้รับสถานภาพผู้ลี้ภัยจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ในประเทศไทย เดินทางไปตั้งรกรากในประเทศของตนได้แล้ว แต่ทางการไทยยังไม่อนุญาตให้คนเหล่านี้เดินทางออกจากไทยในเวลานี้

คาลายาร์ ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาที่ยังใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย บอกกับ วีโอเอ ผ่านการระบบซูม (Zoom) ว่า ตน “รู้สึกเหมือนถูกจำคุกอยู่” หลังจากตัวเธอและครอบครัวเดินทางมาถึงไทย ก่อนจะถูกจัดให้ไปอยู่ในโรงแรมแห่งหนึ่ง ที่เรียกกันว่าเป็น เซฟเฮาส์ (safe house) ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

อดีตนักโทษการเมืองวัย 53 ปีรายนี้ ถูกรัฐบาลทหารเมียนมาสั่งจำคุก 7 ปีเมื่อปี ค.ศ. 1995 และหลังได้รับการปล่อยตัว เธอเลือกที่จะทำงานเป็นผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ จนกระทั่งเกิดรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 2021 และมีการปราบปรามผู้ประท้วงและหน่วยงานด้านสื่อ ที่ทำให้เธอและครอบครัวตัดสินใจหนีภัยมายังประเทศไทยในเดือนกันยายนของปีเดียวกัน

คาลายาร์ ระบุว่า เธอและครอบครัวเข้ามาพักอยู่ในเซฟเฮาส์ที่แม่สอดตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ปี ค.ศ. 2022 หลังได้รับจดหมายอนุมัติจากรัฐบาลสหรัฐฯ ให้อพยพเข้าประเทศในฐานะผู้ลี้ภัยได้ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ปี ค.ศ. 2022

แต่แม้ทุกคนในครอบครัวของเธอจะผ่านขั้นตอนการตรวจสุขภาพและการฉีดวัคซีนตามที่รัฐบาลสหรัฐฯ กำหนดตั้งแต่สิ้นเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 2022 ทุกคนไม่เข้าใจว่า ทำไมถึงยังไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกประเทศไทย

This photo taken on Dec. 16, 2021 by Metta Charity, shows people from Myanmar who fled a surge in violence sitting in lines as they are processed in Mae Tao Phae. in Thailand's Mae Sot district.
This photo taken on Dec. 16, 2021 by Metta Charity, shows people from Myanmar who fled a surge in violence sitting in lines as they are processed in Mae Tao Phae. in Thailand's Mae Sot district.

คาลายาร์ เปิดเผยว่า เธอได้ติดต่อไปยังองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) และองค์กร Resettlement Support Center ของสหรัฐฯ ที่รับผิดชอบกระบวนการเคลื่อนย้ายผู้ลี้ภัย แต่ทั้งสองแห่งไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนเกี่ยวกับข้อจำกัดการเดินทางที่เกิดขึ้นได้

วีโอเอ พยายามติดต่อหน่วยงานทั้งสองแห่งเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมแต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับขณะจัดทำรายงานข่าวชิ้นนี้

สำหรับสภาพความเป็นอยู่ในเซฟเฮาส์นั้น คาลายาร์ บอกกับ วีโอเอ ว่า พวกเธอ “รู้สึกเหมือนอยู่ในสวนสัตว์” โดย “IOM จัดหาอาหารให้ 3 มื้อ แต่อาหารไม่ค่อยดี และพวกเราก็ไม่มีทางเลือกอื่นใด – คือ ต้องทานไป หรือไม่ก็ไม่มีอะไรทาน พวกเราไม่ได้รับอนุญาตให้ออกนอกสวนของโรงแรม ไม่มีรายได้ การเป็นผู้ลี้ภัย ทำให้เราไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทย”

เธอบอกด้วยว่า ผู้ลี้ภัยทุกคนไม่มีโอกาสเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและหากออกนอกพื้นที่เซฟเฮาส์ไปหาหมอ ก็ต้องออกค่ารักษาเอง ทั้งยังเสี่ยงที่จะถูกตำรวจจับด้วย

วีโอเอ ติดต่อไปยังสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย แต่ได้รับคำแนะนำให้ติดต่อไปยังหน่วยงานดูแลผู้อพยพของสหรัฐฯ แทน ขณะที่ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตันยังไม่ได้ตอบกลับข้อสอบถามเกี่ยวกับความล่าช้าในการส่งตัวผู้ลี้ภัยจากเมียนมาไปยังสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี มอร์แกน รูสเซล-เฮเมรี จาก UNHCR ประจำประเทศไทย บอกกับ วีโอเอ ว่า รัฐบาลไทยเป็นหน่วยงานผู้มีอำนาจแห่งเดียวที่จะตัดสินใจว่า ใครมีสิทธิ์เดินทางออกนอกประเทศ

ทางการไทยยังไม่ได้ติดต่อกลับมายัง วีโอเอ เกี่ยวกับคำถามเรื่องข้อจำกัดการเดินทางของผู้ลี้ภัยขณะจัดทำรายงานนี้เช่นกัน

ดันแคน แมคอาร์เธอร์ รักษาการผู้อำนวยการ Border Consortium ซึ่งเป็นกลุ่มเอ็นจีโอที่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ ที่จัดหาอาหาร เสื้อผ้า และความช่วยเหลือต่าง ๆ ให้กับผู้อพยพชาวเมียนมาราว 87,000 คนที่อาศัยอยู่ตามค่ายผู้อพยพ 9 แห่งทางภาคตะวันตกของไทย ยอมรับว่า ทางกลุ่มไม่สามารถคาดเดาได้ว่า เกิดอะไรขึ้นกับข้อจำกัดการเดินทางของทางการไทย

ทั้งนี้ รายงานข่าวระบุว่า มีผู้ลี้ภัยกว่า 95,000 คนอยู่ในประเทศไทยในเวลานี้ โดยส่วนใหญ่มาจากเมียนมา

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG