Your browser doesn’t support HTML5
นักวิจัยเปิดเผยว่า ใกล้จะมีวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกให้ใช้กันได้ในไม่ช้านี้ และคาดว่าจะมีการทดลองวัคซีนต่อต้านเชื้อไวรัส Zika ซึ่งใกล้เคียงกับเชื้อไวรัสโรคไข้เลือดออกภายในปีนี้
ในแต่ละปี มีคนติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออก หรือ Dengue Fever ซึ่งมียุงเป็นพาหะราวๆ 400 ล้านคนใน 120 ประเทศทั่วโลก และในขณะที่อาการของโรค ซึ่งมีผื่นขึ้นตามมาด้วยนั้น อาจจะไม่ร้ายแรงในชั้นต้น แต่ปรากฏว่ามีคนเสียชีวิตเพราะโรคไข้เลือดออกอาการรุนแรงประมาณ 25,000 คนทุกปี
ในการทดลองวัคซีนไข้เลือดออก ซึ่งเรียกชื่อว่า TV003 กับอาสาสมัคร 50 คนเพื่อดูความปลอดภัยและประสิทธิภาพของตัวยา ผลที่ได้แสดงให้เห็นว่า TV003 ทำงานได้ผล 100%
ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ Anna Durbin หัวหน้าทีมวิจัยที่คณะสาธารณสุขศาสตร์ Bloomberg มหาวิทยาลัย Johns Hopkins ในเมือง Baltimore รัฐ Maryland บอกว่าผลการทดลองทำให้มีความเชื่อมั่นอย่างมากว่าวัคซีนนี้จะใช้ได้ผล
ที่จริงในขณะนี้มีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกให้ใช้อยู่แล้ว ชื่อ Dengvaxia ซึ่งแม้จะช่วยเพิ่ม Antibodies ของระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย คนที่ฉีดวัคซีนนี้ก็ยังล้มป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกได้
แต่ TV003 ป้องกันไข้เลือดออกได้ทุกระดับ และฉีดครั้งเดียวก็ได้ผล ไม่ต้องฉีดกันหลายครั้งเหมือนวัคซีน Dengvaxia
กำลังมีการทดลอง TV003 เป็นเวลา 5 ปีกับอาสาสมัคร 17,000 คนในประเทศบราซิล แต่นักวิจัย Anna Durbin ให้ความเห็นว่า น่าจะมีข้อมูลพอภายในปี ค.ศ. 2018 ที่จะขออนุญาตให้มีการผลิตวัคซีนนี้ออกมาให้ใช้ทั่วไปได้
ขณะเดียวกัน คาดว่าจะมีการทดลองวัคซีนต่อต้านเชื้อไวรัส Zika ซึ่งเกี่ยวโยงกับเชื้อไวรัสไข้เลือดออกอย่างใกล้ชิด ภายในเดือนกันยายนหรือตุลาคมนี้
ยุงเป็นพาหะให้กับเชื้อไวรัส Zika เช่นเดียวกัน เชื้อไวรัส Zika เชื่อมโยงกับความบกพร่องของสมองในเด็กเกิดใหม่ และ Guillain-Barre Syndrome ซึ่งเป็นโรคที่มีการอักเสบของปลอกหุ้มของเส้นประสาทหลายเส้นอย่างเฉียบพลันพร้อมกัน และอาจทำให้เป็นอัมพาตได้
นักวิจัย Anna Durbin อธิบายว่าเชื้อไวรัส Zika มีโครงสร้างเชื้อพันธุ์อย่างเดียวกับเชื้อไวรัส Dengue ซึ่งหมายความว่าเทคนิคการสร้าง DNA สายผสมที่ National Institute of Health หรือ NIH พัฒนาขึ้นมาใช้กับ Zika ก็จะใช้กับ Dengue ได้ด้วย
นักวิทยาศาสตร์ของ NIH เป็นผู้พัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกขึ้นมา และได้รายงานไว้แล้วในวารสาร Science Translational Medicine
นักวิจัย Anna Durbin กล่าวส่งท้ายว่า เป้าหมายในที่สุดคือเด็กทุกคนจะได้รับวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ก่อนที่จะติดเชื้อโรคนี้เป็นครั้งแรก ส่วนวัคซีนต่อต้านเชื้อไวรัส Zika นั้น จะมุ่งเป้าไปที่สตรีในวัยที่มีครรภ์ได้ เพื่อป้องกันผลกระทบของโรคต่อเด็กเกิดใหม่