Your browser doesn’t support HTML5
นักวิจัยของมหาวิทยาลัยมิชิแกนในสหรัฐ กล่าวในบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA Internal Medicine ว่า ผลการของศึกษาระบุว่าอัตราคนอเมริกันเป็นโรคสมองเสื่อมลดลง แม้จะมีอัตราผู้ป่วยเป็นโรคต่างๆ ที่อาจทำให้เป็นโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และการมีน้ำหนักหรืออ้วนเกินขนาด
ผลของการศึกษาดังกล่าวยังแสดงให้เห็นด้วยว่า ผู้ป่วยที่มีการศึกษาสูงกว่ามีความเสี่ยงน้อยกว่าที่จะเป็นโรคจิตเสื่อม
ศาสตราจารย์ Kenneth Langa ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมิชิแกน หัวหน้าคณะนักวิจัยชุดนี้ บอกว่า ผลการศึกษาวิจัยที่ว่านี้อาจเป็นประโยชน์ต่อผู้วางนโยบายเศรษฐกิจของประเทศได้
คณะนักวิจัยชุดนี้พบว่า 11.6% ของผู้ป่วยที่มีอายุ 65 ปี และสูงกว่า ที่ได้สัมภาษณ์ในปีค.ศ. 2000 ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 21,000 คน มีอาการของโรคจิตเสื่อม
แต่ในปีค.ศ. 2012 อัตราดังกล่าวลดลงไปอยู่ที่ 8.8% และนักวิจัยบอกว่าในช่วงเวลา 12 ปีนั้น จำนวนปีที่ผู้ป่วยได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้นจาก 12 ปี เป็น 13 ปี
คนกลุ่มนี้เป็นผู้ที่เกิดในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หรือที่เรียกกันว่า Baby Boomers ทำให้ David R. Weir ผู้ร่วมเขียนรายงานการศึกษาวิจัยฉบับนี้ ให้ความเห็นว่า การลงทุนของรัฐบาลสหรัฐในการศึกษาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แสดงผลให้เห็นว่า ผู้สูงอายุเหล่านี้มีสุขภาพสมองดีกว่าคนรุ่นก่อน
ในอีกด้านหนึ่ง ศาสตราจารย์ Kenneth Langa กล่าวว่า ความแตกต่างด้านฐานะทางเศรษฐกิจและชาติพันธุ์ ส่งผลกระทบต่อการศึกษาที่บุคคลได้รับ ซึ่งอาจส่งผลต่อไปยังสุขภาพสมอง และโอกาสความเป็นไปได้ที่บุคคลจะสามารถทำงานและดำรงชีวิตได้อย่างเป็นอิสระในวัยทอง
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยชี้แนะว่า ยังมีวิธีอื่นๆ ที่จะสามารถใช้สมองให้ทำงานได้อย่างแข็งขันต่อไป ซึ่งรวมถึงการอ่านหนังสือและการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ที่อาจช่วยชะลอผลกระทบของโรคจิตเสื่อมได้