ข้อมูลจากสมาคมอัลไซเมอร์สของสหรัฐฯ ระบุว่าคนอเมริกันอายุเกิน 65 ปี จะป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์สเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าภายในปี ค.ศ 2050 คือจากประมาณ 5 ล้านคนในปัจจุบันเป็นเกือบ 14 ล้านคน ซึ่งจะทำให้ต้นทุนค่าดูแลรักษาคนกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านล้านดอลล่าร์ต่อปี
รายงานบางชิ้นก่อนหน้านี้ระบุว่า การทำให้สมองตื่นตัวอยู่เสมอด้วยการทำกิจกรรมต่างๆ เช่นพูดสองภาษา อาจช่วยลดโอกาสเกิดโรคความจำเสื่อมได้ถึง 5 ปี
ผช.ศาสตราจารย์ Brenda Hanna-Pladdy จากศูนย์ประสาทวิทยา มหาวิทยาลัย Emory พยายามศึกษาว่าการเล่นดนตรีจะให้ผลลัพธ์แบบเดียวกันหรือไม่ โดยเชื่อว่าเครือข่ายเซลล์ประสาทที่ถูกกระตุ้นบ่อยๆ ด้วยเสียงดนตรี จะช่วยทำให้ส่วนเชื่อมต่อของเซลล์ประสาทมีความหนาแน่นขึ้น ซึ่งเป็นกระบวนการที่เรียกว่าการสร้าง Cognitive Reserve หรือสมรรถภาพส่วนสำรองของสมอง ที่ยิ่งมีความแข็งแรงมากเท่าไร ก็ยิ่งมีความทนทานต่อภาวะเสื่อมสมองมากขึ้นเท่านั้น
ผลการวิจัยพบว่า การฝึกฝนเล่นเครื่องดนตรีว่าจะในระดับใด สามารถช่วยเพิ่ม Cognitive Reserve นี้ได้ และน่าจะช่วยลดโอกาสเกิดโรคความจำเสื่อมเมื่อแก่ตัวลงได้เช่นกัน การวิจัยยังพบว่าแม้กลุ่มตัวอย่างจะไม่ได้เล่นดนตรีมานานเมื่ออายุมากขึ้น แต่หากเคยเล่นดนตรีช่วงใดช่วงหนึ่งในชีวิตเป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปี พวกเขายังสามารถทำบททดสอบด้านความจำได้ดีกว่ากลุ่มตัวอย่างที่ไม่เคยฝึกเล่นดนตรีเลย
รายงานยังระบุด้วยว่าประโยชน์จากการฝึกดนตรีที่เกิดกับความสามารถด้านความทรงจำ สามารถดำรงอยู่ได้ตลอดชีวิตของคนๆ นั้น และยิ่งเห็นได้ชัดเจนในคนที่ยังเล่นดนตรีเป็นประจำเมื่อแก่ตัวลง
คำถามสำคัญต่อไปคือ หากให้ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์สเริ่มฝึกเล่นดนตรีตั้งแต่บัดนี้ จะให้ประโยชน์แบบเดียวกันหรือไม่?
ผช.ศาสตราจารย์ Brenda Hanna-Pladdy ยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก เนื่องจากผู้ป่วยได้เริ่มสูญเสียความทรงจำไปแล้ว แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย โดยเฉพาะอย่างนิ่งการใช้เครื่องดนตรีเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ป่วยที่เคยเล่นดนตรีชิ้นนั้นแต่หยุดเล่นไปนาน ได้รื้อฟื้นความทรงจำในอดีตบ้าง
นอกจากนี้นักวิจัยเชื่อว่าเสียงดนตรีเพราะๆ ยังสามารถช่วยลดพฤติกรรมที่ก้าวร้าวหรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมต่างๆ ของผู้ป่วยอัลไซเมอร์สลงได้เช่นกัน
ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียงรายงานจาก CNN