เหตุชาวอุยกูร์เสียชีวิตในศูนย์กักกันไทย จุดกระแสวิจารณ์จากนานาชาติ

  • VOA

FILE - Detainees flash gestures at a Bangkok immigration detention center in Bangkok, Thailand, Jan. 21, 2019. According to the son of one former detainee, more than 50 adult Uyghur men remain in Thailand's immigration detention facilities.

เหตุการณ์ผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์จากมณฑลซินเจียงของจีน เสียชีวิตในเดือนนี้ที่สถานกักกันคนต่างด้าว สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ที่กรุงเทพฯ กำลังก่อให้เกิดความกังวลต่อการปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์มากกว่า 50 คนที่ถูกควบคุมคัวไว้ที่ศูนย์แห่งนี้ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2557

อาซิซ อับดุลลาห์ วัย 49 ปี เสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 ก.พ. เขาถูกควบคุมตัวไว้ที่ศูนย์แห่งนี้ตั้งแต่ 9 ปีก่อนหลังจากหลบหนีออกจากประเทศจีนพร้อมครอบครัวและถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของไทยจับกุม

เมื่อปีพ.ศ. 2558 ทางการไทยได้ส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์เกือบ 270 คนไปยังตุรกี รวมทั้งครอบครัวของอาซิซ ภายใต้หลักการด้านมนุษยธรรม แต่มีชายชาวอุยกูร์กว่า 100 คนที่ถูกส่งตัวกลับจีน ส่วนอาซิซคือหนึ่งในชายอุยกูร์บางส่วนที่ยังคงถูกคุมขังที่สถานกักกันคนต่างด้าวในกรุงเทพฯ ต่อไป

มูฮัมหมัด อับดุลลาห์ บุตรชายของอาซิซ ซึ่งอาศัยอยู่ในตุรกี กล่าวกับวีโอเอว่า บิดาของเขาเคยเป็นคนขายผลไม้ที่เมืองอูรุมชีในมณฑลซินเจียง แต่หลังจากที่ถูกทางการจีนจับกุมและปราบปรามอย่างต่อเนื่อง ครอบครัวของเขาตัดสินใจเดินทางลี้ภัยมายังประเทศไทย

FILE - East Turkistan Awakening Movement holds a rally outside the White House against the Chinese Communist Party (CCP) to coincide with the 73rd National Day of the People's Republic of China in Washington, Oct. 1, 2022.

สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ (The Office of the U.N. High Commissioner for Human Rights) กล่าวเมื่อเดือนสิงหาคมว่า มีหลักฐานบ่งชี้ว่าจีนละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงต่อชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยมุสลิมกลุ่มอื่น ๆ ในมณฑลซินเจียง ซึ่งอาจเข้าข่าย "การก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษย์" ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ

เมื่อเดือนมกราคมปีพ.ศ. 2564 สหรัฐฯ ระบุให้การกระทำของจีนต่อชาวอุยกูร์เป็น "การสังหารล้างเผ่าพันธ์ุ" ซึ่งจีนได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาต่าง ๆ เหล่านี้

หนึ่งในผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ที่เคยถูกคุมขังที่ศูนย์กักกันในกรุงเทพฯ ร่วมกับอาซิซ กล่าวกับวีโอเอว่า อาซิซถูกนำตัวมาที่ศูนย์ฯ เมื่อเดือนธันวาคมขณะที่มีอาการป่วยและอาเจียนเป็นเลือด แต่เจ้าหน้าที่ของศูนย์เพิกเฉยที่จะนำตัวเขาไปรักษาที่โรงพยาบาล จนกระทั่งอาการของเขาย่ำแย่ลงและเสียชีวิต

ผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ซึ่งขอไม่เปิดเผยชื่อผู้นี้ ยังบอกด้วยว่า อาซิซคือชาวอุยกูร์คนที่ 4 ที่เสียชีวิตที่ศูนย์กักกันคนต่างด้าวในกรุงเทพฯ

FILE - This photo taken Sept. 30, 2022, shows an immigration detention center where human rights activists believe that a number of Uyghurs are being detained, in the Sathorn area of Bangkok, Thailand.

มุมของทางการไทย

วีโอเอพยายามติดต่อไปทางสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน และกระทรวงการต่างประเทศของไทย เพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับการเสียชีวิตของอาซิซ อับดุลลาห์ แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ

รายงานของสื่อ บางกอกโพสต์ ซึ่งอ้างแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อ ยืนยันการเสียชีวิตของอาซิซ พร้อมย้ำด้วยว่าที่ผ่านมา ทางการไทยได้จัดหาอาหารและยาที่จำเป็นสำหรับชาวอุยกูร์ที่ขอลี้ภัยมาโดยตลอด

ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียขององค์กร Human Rights Watch กล่าวว่า "อับดุลลาห์เสียชีวิตเพราะทางการไทยปฏิเสธที่จะยอมรับความเป็นมนุษย์ของผู้ขอลี้ภัย และล้มเหลวในการจัดหาการดูแลทางการแพทย์ที่จำเป็นให้แก่พวกเขาเหล่านั้น" พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทางการไทยปล่อยตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ทั้งหมด

ดอลกุน ไอซา ประธานองค์กร World Uyghur Congress (WUC) ในเยอรมนี เรียกร้องให้มีการสอบสวนเหตุการณ์การเสียชีวิตของชาวอุยกูร์ในศูนย์กักกันของไทยทันที

  • ที่มา: วีโอเอ