ยูเครน-รัสเซีย-ตุรกี-ยูเอ็น ลงนามเปิดท่าเรือยูเครนอีกครั้ง

  • VOA

Turkish President Recep Tayyip Erdogan, right, and U.N. Secretary General Antonio Guterres lead a signing ceremony at Dolmabahce Palace in Istanbul, Turkey, Friday, July 22, 2022.

ยูเครน รัสเซีย ตุรกี และสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ลงนามใน “ข้อริเริ่มทะเลดำ” (Black Sea Initiative) ที่นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี โดยข้อตกลงนี้มีจุดประสงค์เพื่อเปิดทางให้ธัญพืชจำนวนหลายล้านตันของยูเครนเข้าสู่ตลาดโลก และบรรเทาวิกฤตทางอาหารในประเทศกำลังพัฒนา

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการยูเอ็น กล่าวกับตัวแทนจากรัสเซียและยูเครนหลังพิธีลงนามว่า ทั้งสองประเทศก้าวข้ามความแตกต่างเพื่อปูทางไปสู่ข้อริเริ่มเพื่อประโยชน์ส่วมรวม เขายังยอมรับด้วยว่า “ข้อตกลงสำหรับโลก” ครั้งนี้ ไม่ได้บรรลุได้โดยง่าย

ทั้งนี้ ยูเครนเป็นผู้ส่งออกธัญพืชรายใหญ่ โดยมีกำลังผลิตธัญพืชเพียงพอสำหรับผู้คน 400 ล้านคนต่อปี อย่างไรก็ตาม ธัญพืชราว 20 ล้านตันติดอยู่ที่ไซโลและบนเรือในทะเลดำเนื่องจากรัสเซียปิดกั้นท่าเรือในบริเวณดังกล่าว

ข้อตกลงดังกล่าวลงนามโดยเซอร์เกย์ ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย โอเล็กซานดร์ คูบราคอฟ รัฐมนตรีกระทรวงโครงสร้างพื้นฐานของยูเครน ฮูลูซิ อะการ์ รัฐมนตรีกลาโหมตุรกี และกูเตอร์เรส เลขาฯ ยูเอ็น โดยมีประธานาธิบดีเรจิบ เทยิบ เออโดวาน ของตุรกี เป็นสักขีพยาน

ผู้นำตุรกีกล่าวว่า ข้อตกลงร่วมครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหม่ที่จะฟื้นฟูความหวังต่อสันติภาพ เขายังหวังว่า “บรรยากาศอันเป็นมิตรและสันติ” ของข้อตกลงนี้จะนำไปสู่การสิ้นสุดของสงครามในที่สุด

ข้อตกลงในเบื้องต้นจะมีผลเป็นเวลา 120 วัน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ยูเอ็นรายหนึ่งระบุว่า ข้อตกลงจะต้องมีผลไปจนกว่าสงครามจะสิ้นสุดลง

ทั้งนี้ ยูเอ็นร่วมมือกับยูเครนและรัสเซียเป็นเวลาหลายเดือนเพื่อยุติการปิดกั้นท่าเรือของยูเครนในทะเลดำโดยรัสเซีย และเพื่อเปิดทางให้ผลิคภัณฑ์อาหารและปุ๋ยของรัสเซียเข้าสู่ตลาดโลกได้ โดยรัสเซียเป็นอีกประเทศส่งออกธัญพืชรายใหญ่ และเป็นผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่ที่สุดของโลก ราคาปุ๋ยในตลาดโลกเพิ่มขึ้นสองเท่านับตั้งแต่สงครามเริ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาผลผลิตทางเกษตรพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย

ข้อตกลงครั้งนี้จะทำให้เรือของยูเครนเริ่มเดินเรือได้อีกครั้ง โดยจะมีการเปิดท่าเรือเมืองโอเดสซา เชอร์โนมอร์กส์ และยุซนี อีกครั้ง และจะมีการเปิดศูนย์ประสานงานร่วมที่นครอิสตันบูลเพื่อติดตามปฏิบัติการครั้งนี้

สหประชาชาติระบุว่า ขณะนี้มีผู้คนที่ตกอยู่ในภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารอย่างรุนแรง 345 ล้านคน เทียบกับเมื่อช่วงก่อนรัสเซียเริ่มรุกรานยูเครนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ซึ่งอยู่ที่ 276 ล้านคน โดยคาดว่า ข้อตกลงครั้งนี้จะช่วยผู้คนหลายล้านคนที่ประสบปัญหาราคาอาหารพุ่งสูงอันเป็นผลจากสงคราม

A farmer uses a combine harvester to harvest wheat on a field near Izmail, in the Odessa region on June 14, 2022, amid the Russian invasion of Ukraine.

ประเทศต่าง ๆ ทำงานภายใต้ “ข้อริเริ่มทะเลดำ” อย่างไร?

ยูเครนจะจัดการขนส่งธัญพืชจากไร่และไซโลมายังท่าเรือ และจะนำเรือบรรทุกสินค้าแล่นผ่าน “ระเบียงปลอดภัย” จากระเบิดที่ยูเครนวางใต้น่านน้ำของตน โดยเมื่อเรือบรรทุกสินค้าเดินทางถึงท่าเรือยูเรนแล้ว จะถูกตรวจสอบโดยทีมงานของยูเครน รัสเซีย และตุรกีของศูนย์ประสานงานร่วม เพื่อให้มั่นใจว่าเรือดังกล่าวไม่ได้ขนอาวุธมาทั้งขาไปและขากลับ

ตุรกีจะมีบทบาทสำคัญในปฏิบัติการครั้งนี้ เนื่องจากเรือบรรทุกสินค้าจะแล่นจากทะเลดำผ่านช่องแคบบอสพอรัสในตุรกี

ทั้งยูเครนและรัสเซียตกลงว่า จะไม่โจมตีเรือที่ปฏิบัติการภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวและแล่นผ่านระเบียงปลอดภัย ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ใด ๆ ขึ้น ศูนย์ปฏิบัติการร่วมจะมีหน้าที่รับมือกับปัญหา

ข้อตกลงครั้งนี้ยังช่วยรัสเซียจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปุ๋ยและอาหาร โดยแม้มาตรการลงโทษจากสหรัฐฯ และยุโรปต่อรัสเซียจะไม่พุ่งเป้าไปที่การส่งออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าว แต่ภาคเอกชนก็ลังเลต่อการทำธุรกิจกับรัสเซียเนื่องจากกังวลว่า รัสเซียอาจเผชิญมาตรการลงโทษเพิ่มเติมในอนาคต

ทางด้านสหรัฐฯ เห็นว่า รัสเซียตั้งใจลดการส่งออกสินค้าเพื่อบิดเบือนเจตนาของมาตรการลงโทษจากตะวันตกต่อตน โดยลินดา โธมัส-กรีนฟิลด์ ทูตสหรัฐฯ ประจำยูเอ็น กล่าวต่อสภาคองเกรสว่า รัสเซียสามารถส่งออกสินค้าการเกษตรและปุ๋ยได้ แต่กลับเลือกกล่าวโทษทั้งโลกแทนและคิดว่าจะได้รับการสนับสนุนมากขึ้น และเธอเห็นว่ารัสเซียไม่ประสบความสำเร็จ

  • ที่มา: วีโอเอ