ผู้เชี่ยวชาญเตือนอย่าละเลยมาตรการป้องกันโควิด-19 แม้จะเริ่มมีวัคซีนใช้ 

FILE - A volunteer receives an injection from a medical worker during the country's first human clinical trial for a potential vaccine against the novel coronavirus, at Baragwanath Hospital in Soweto, South Africa, June 24, 2020.

Your browser doesn’t support HTML5

Covid Measures Won't End With Vaccine


ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ William Schaffner จากศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ในรัฐเทนเนสซีกล่าวว่า วัคซีนไม่ใช่ชุดเกราะ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือวัคซีนไม่น่าจะใช้ได้ผล 100 เปอร์เซ็นต์

ตัวอย่างเช่นวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลได้ผลที่ดีที่สุดเพียง 60 เปอร์เซ็นต์ ส่วนวัคซีนที่มีประสิทธิผลน้อยที่สุดก็ใช้ได้ผลเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ก่อนหน้านี้องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ หรือ FDA ได้ตั้งเป้าหมายให้วัคซีนโควิด-19 มีประสิทธิผลอยู่ที่เกณฑ์ 50 เปอร์เซนต์

Jesse Goodman ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและอดีตหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของ FDA ซึ่งปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ในกรุงวอชิงตันกล่าวว่าถึงแม้วัคซีนที่มีประสิทธิผลบางส่วนอาจสามารถช่วยกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูง เช่นบุคลากรทางการแพทย์หรือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอยู่ก่อนแล้ว แต่อาจจะไม่เหมาะสำหรับประชากรทั่วๆ ไป

เขากล่าวว่าวัคซีนไม่ใช่สิ่งที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชากรทุกคนทั้งประเทศได้ เพราะถึงแม้ทุกคนจะได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว แต่ก็อาจยังไม่มีภูมิคุ้มกันในหมู่ประชาชนอย่างเพียงพอที่ะหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสนี้ได้

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตว่าแม้แต่วัคซีนที่ไม่สมบูรณ์ก็อาจช่วยลดความรุนแรงของอาการป่วยเพื่อจะได้ไม่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ก็ย้ำว่ายังมีความเสี่ยงที่แม้แต่ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วจะแพร่เชื้อได้โดยไม่รู้ตัว

ผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่า สถานการณ์ที่แย่ที่สุดก็คือ การที่วัคซีนทำงานได้ดีพอที่จะป้องกันไม่ให้ผู้ติดเชื้อมีอาการเจ็บป่วย แต่ยังไม่ดีพอที่จะยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสนี้ ทั้งนี้เพราะวัคซีนอาจสามารถสร้างภูมิคุ้มกันที่ไม่สามารถปิดกั้นไวรัสได้อย่างสมบูรณ์ แต่เพียงแค่ลดความรุนแรงไม่ให้ผู้ป่วยต้องทรมานกับอาการป่วยของโรค แต่ผู้ป่วยที่ได้รับวัคซีนและแม้ไม่ได้มีอาการก็ยังสามารถแพร่เชื้อได้ต่อไป และนั่นคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้โควิด-19 ยากที่จะควบคุม

FILE PHOTO: FILE PHOTO: A person wears a scarf as a protective face mask in Melbourne, the first city in Australia to enforce mask-wearing to curb a resurgence of COVID-19

นอกจากนั้น Paul Duprex ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยวัคซีนแห่งมหาวิทยาลัยพิตส์เบิร์กยังกล่าวว่าวัคซีนอาจไม่สามารถป้องกันทุกคนได้อย่างเท่าเทียมกัน เพราะอาจมีความแตกต่างมากมายในกลุ่มเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุและผู้ที่มีภาวะสุขภาพบางอย่างรวมทั้งยังอาจมีความแตกต่างกันในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เรื่องการตอบสนองต่อวัคซีนด้วย

ด้วยเหตุนี้ ผู้เชี่ยวชาญจึงเตือนว่าการที่เราจะสามารถเลิกใส่หน้ากากอนามัยได้เมื่อไหร่นั้นขึ้นอยู่กับจำนวนคนที่ได้รับวัคซีนและการสร้างภูมิต้านทานหมู่ด้วย ทั้งนี้เพราะนักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถทราบในทันทีว่าวัคซีนใหม่ที่ใช้เวลาพัฒนาเพียงแค่ไม่ถึงปีจะสามารถปกป้องสุขภาพของแต่ละคนได้นานแค่ไหน

ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แนะด้วยว่าทุกคนควรจะยังใช้หน้ากากอนามัยต่อไปอย่างน้อยที่สุดตลอดปีหน้า ขณะที่นักวิทยาศาสตร์พยายามเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโควิด-19 และว่าต่อไปเชื้อไวรัสนี้อาจจะไม่หายไปโดยสิ้นเชิง เพราะโควิด-19 อาจจะกลายเป็นภัยคุกคามด้านสุขภาพที่พบเห็นได้บ่อยครั้งนั่นเอง