ความปลอดภัยจากการเดินทางทางอากาศ หลังโควิดระบาดผ่านไปเกือบปี

Pandemic reshapes air travel

ความเสี่ยงของการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ทำให้การเดินทางทางอากาศหยุดชะงักมานานหลายเดือน แต่ในเวลานี้มีผู้เริ่มตั้งคำถามว่า การเดินทางด้วยวิธีดังกล่าวมีความปลอดภัยพอหรือยัง

สำนักข่าว Associated Press รายงานว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขยังคงยืนยันว่า วิธีที่จะช่วยป้องกันตนเองและคนอื่นๆ ให้ปลอดภัยจากการติดโคโรนาไวรัส ก็คือ การอยู่บ้าน แต่หากมีแผนที่จะต้องเดินทางด้วยเครื่องบิน ในช่วงวันหยุดปลายปีนี้ นักเดินทางทั้งหลาย โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในสหรัฐฯ ควรจะใช้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ

ทั้งนี้ มีการคาดกันว่า สภาพห้องผู้โดยสารของเที่ยวบินต่างๆ จะมีความพลุกพล่านมากขึ้น เพราะสายการบินหลายสายจะยกเลิกการเว้นที่นั่งเพื่อรับผู้โดยสารได้มากขึ้น เช่น สายการบิน เซาธ์เวสต์ รวมทั้ง ยูไนเต็ด และ อเมริกัน แอร์ไลนส์ จะอนุญาตให้ทำการจำหน่ายตั๋วโดยสารของทุกที่นั่งบนเครื่องของตนตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมนี้เป็นต้นไป ขณะที่ สายการบิน เจ็ตบลุ จะเริ่มลดจำนวนที่นั่งซึ่งเคยสั่งเว้นและห้ามจำหน่าย ส่วนสายการบิน เดลต้า และอลาสกา แอร์ไลนส์ จะเริ่มผ่อนคลายมาตรการของตนในช่วงปีหน้า

ผู้ประกอบการธุรกิจการบินยืนยันว่า การเดินทางทางอากาศนั้นมีความปลอดภัย โดยพิสูจน์จากรายงานที่อุตสาหกรรมการบินให้การสนับสนุนทางการเงินในการวิจัยที่ชี้ว่า ความเสี่ยงของการแพร่กระจายของไวรัสบนเครื่องบินนั้นอยู่ในระดับต่ำมาก ถ้าทุกคนบนเครื่องสวมใส่หน้ากาก เนื่องจากระบบถ่ายเทอากาศและเครื่องกรองอากาศของเครื่องบินมีประสิทธิภาพสูงมาก

Pandemic reshapes air travel

รายงานดังกล่าวที่ร่วมกันจัดทำโดยผู้เชี่ยวชาญจากวิทยาลัยสาธารณสุข Harvard T.H. Chan แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ภายใต้โครงการ Aviation Public Health Initiative ทำการประเมินความเสี่ยงของการแพร่กระจายของโควิด-19 ระหว่างการเดินทางทางอากาศ สรุปความว่า ความเสี่ยงดังกล่าวต่ำมาก เมื่อมีการดำเนินมาตรการควบคุมหลายๆ อย่างพร้อมๆ กัน อันได้แก่ การควบคุมระบบวิศวกรรมของการถ่ายเทอากาศ ซึ่งเครื่องบินโดยสารพาณิชย์ใช้อยู่แล้ว การบังคับให้ทุกคนบนเครื่องสวมใส่หน้ากากตั้งแต่ก่อนขึ้นเครื่องและภายหลังลงเครื่อง ขณะดำเนินการรักษาระยะห่างระหว่างผู้โดยสารไว้เสมอ การทำความสะอาดฆ่าเชื้อพื้นผิวสัมผัสต่างๆ ภายในเครื่องบิน และการคัดกรองผู้โดยสารและพนักงานบนเครื่องอย่างเคร่งครัด รวมทั้งการนำเสนอข้อมูลความรู้และสร้างความตื่นตัวโดยสายการบินและสนามบินเพื่อให้ประชาชนร่วมมือในการลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อ ตั้งแต่ขั้นตอนการจองที่นั่ง ไปจนถึงการขึ้นเครื่อง และตลอดการใช้เวลาบนเครื่อง

ผู้เชี่ยวชาญยังระบุในรายงานนี้ด้วยว่า การดำเนินมาตรการต่างๆ ที่ว่านี้อย่างเคร่งครัดทำให้ความเสี่ยงของการแพร่เชื้อโควิด-19 บนเครื่องบินต่ำกว่าความเสี่ยงจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันอื่นๆ เช่น การออกไปซื้อของที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือตลาด และการออกไปทานอาหารนอกบ้าน ด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ หรือ CDC เตือนว่า การนั่งห่างจากผู้อื่นไม่ถึง 6 ฟุต เป็นเวลานานหลายชั่วโมง สามารถเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อได้อยู่ดี และถึงแม้สายการบินต่างๆ จะบังคับให้ผู้โดยสารต้องสวมหน้ากาก ก็ไม่มีการรับประกันได้ว่า ทุกคนจะทำตามจริง โดยที่ผ่านมา มีผู้โดยสารกว่า 1,000 คนปฏิเสธที่จะสวมใส่หน้ากากและถูกสายการบินในสหรัฐฯ ประกาศห้ามบินไปแล้ว

นอกจากการต้องอยู่บนเครื่องแล้ว สิ่งที่นักเดินทางพึงระลึกคือ การที่ต้องเข้าแถวผ่านขั้นตอนตรวจตราเพื่อการรักษาความปลอดภัยในอาคารผู้โดยสาร ซึ่งหมายถึงความน่าจะเป็นที่จะต้องยืนใกล้ชิดกับผู้อื่นได้

และในรายงานที่ออกมาในเดือนตุลาคม CDC ยังคงเน้นย้ำความสำคัญของการสวมใส่หน้ากาก และแนะนำผู้ที่ต้องการเดินทางให้ตรวจดูอัตราการติดเชื้อของจุดหมายที่กำลังเดินทางไป เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ได้ทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพด้วย