Your browser doesn’t support HTML5
ก่อนที่องค์การอนามัยโลกจะประกาศให้สถานการณ์โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 เป็นการระบาดใหญ่ ผู้คนทั่วโลกเกิดความกลัวและมีปฏิกริยาต่อความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะในด้านการป้องกันตัวเองต่างๆ กันออกไป แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือการกักตุนเสบียงวัสดุที่คิดว่าจำเป็น จนทำให้ห้างร้านว่างเปล่าและสินค้าหมดคลัง
สำนักข่าว วีโอเอ และ ซีเอ็นเอ็น พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญและนำเสนอบทวิเคราะห์ของสถานการณ์ปัจจุบัน ที่มีสินค้าอุปโภคหลายรายการหายไปจากชั้นในร้านค้าหลายประเทศ อาทิ กระดาษชำระแบบม้วน ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดฆ่าเชื้อต่างๆ และ หน้ากากอนามัย
ในสหรัฐฯ หน้ากากอนามัย คือ สิ่งที่หาซื้อไม่ได้ในหลายพื้นที่ ทำให้พลเรือโท เจอโรม อดัมส์ Surgeon General ซึ่งมีตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดีกรมอนามัย ต้องทวีตข้อความออกมาเรียกร้องให้ผู้คนหยุดซื้อหน้ากากอนามัยได้แล้ว
พลเรือโท อดัมส์ ยืนยันว่า หน้ากากอนามัยนั้นไม่ได้มีประสิทธิภาพในการป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อ และวัสดุดังกล่าวควรมีไว้สำหรับผู้ที่ต้องใช้จริงๆ เช่น บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลคนไข้ เพื่อไม่ให้ชุมชนรอบข้างต้องตกอยู่ในความเสี่ยง
หากมองในแง่ของจิตวิทยาแล้ว ผู้ที่อยู่ใกล้กับพื้นที่ที่มีการติดเชื้อมาก น่าจะเป็นผู้ที่มีเหตุผลมากกว่าคนอื่น ที่จะกลัวตกเป็นเหยื่อของไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ มากกว่าผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีการติดเชื้อ หรือมีน้อย
แต่ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า ไม่มีสูตรคิดคำนวณตายตัวที่จะระบุว่า คนเรานั้นจะตัดสินใจทำอะไรเพื่อรับมือกับความกลัว เพราะทั้งหมดเป็นเรื่องของอารมณ์และอิทธิพลทางจิตวิทยามากกว่า
เดวิด โรพิค ผู้เชี่ยวชาญด้านความเสี่ยง ซึ่งเคยสอนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่า “อารมณ์ของคนเราเป็นเหมือนตัวกรองที่อาจทำให้เรามองเห็นความจริงไม่ชัดเจน”
ขณะที่ พอล สโลวิค ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยออริกอน กล่าวเสริมว่า ในกรณีการระบาดนี้ การรับรู้และเข้าใจความเสี่ยงของคนเรานั้น ยิ่งอาจไม่สัมพันธ์กับคำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์เลย เนื่องจากว่า ปัจจุบัน ข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสตัวนี้ยังมีจำกัด ไม่เหมือนกับไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ปกติที่คร่าชีวิตคนจำนวนมากในแต่ละปี ดังนั้น ความไม่รู้จึงทำให้ความกลัวขยายตัวและควบคุมยาก
สโลวิค ยังบอกด้วยว่า การที่ไม่มีวัคซีนสำหรับโควิด-19 ขณะที่ข่าวสารที่ออกมา ทั้งทางช่องทางปกติและทางสังคมออนไลน์ มีแต่เรื่องของผู้ป่วยและเสียชีวิต ซึ่งประชาชนก็ส่งต่อๆ กันไป ทำให้คนยิ่งกลัวหนักขึ้นเรื่อยๆ
สอดคล้องกับรายงานของ ซีเอ็นเอ็น ที่ชี้ว่า ผู้คนแห่กันไปซื้อกระดาษชำระแบบม้วนจนหมดร้าน เพราะการได้รับข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนและขัดแย้งกัน รวมทั้งการที่เจ้าหน้าที่รัฐอาจไม่ได้นำเสนอแนวทางการปฏิบัติตนที่ชัดเจนออกมา ส่งผลให้เกิดการแห่ไปซื้อสินค้าบางประเภท ในแบบการซื้อเพราะตื่นตระหนก
แฟรงค์ ฟาร์ลีย์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเท็มเพิลและอดีตประธานสมาคมจิตวิทยาแห่งอเมริกา กล่าวว่า การที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อของสหรัฐฯ หรือ CDC และหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั้งหลายเตือนให้ประชาชนในบางพื้นที่อยู่แต่ในบ้านและหลีกเลี่ยงการติดต่อสัมผัสกับคนอื่น ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าต้องเตรียมตัวหนัก ด้วยการกักตุนของใช้ที่คิดว่าจำเป็นเพื่อความอยู่รอด
ส่วน วินเซนต์ โคเวลโล ผู้อำนวยการของ Center for Risk Communication ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านความเสี่ยง กล่าวว่า มีปัจจัยมากมายที่ทำให้คนเราคิดว่าตัวเองตกอยู่ในภาวะเสี่ยง เช่น ความไม่เชื่อใจในเจ้าหน้าที่รัฐหรือหน่วยงานต่างๆ
นอกจากนั้น คนเรายังมักกังวลกับสิ่งที่ตนเองไม่เต็มใจต้องทำ เช่น การติดเชื้อโควิด-19 โดยไม่รู้ตัว แต่หากเป็นเรื่องที่รับรู้อยู่แล้ว เช่น ความเสี่ยงจากการสูบบุหรี่ คนเรากลับยอมรับได้โดยไม่กังขา
รายงานของซีเอ็นเอ็น ระบุว่า คนเรามักมีสัญชาติญาณที่ต้องการควบคุมสถานการณ์ให้ได้ โดยคิดถึงตนเองและคนรอบตัวเป็นหลัก ซึ่งประเด็นนี้ดูชัดเจนในกรณีของหน้ากากอนามัยที่ขาดตลาด เพราะ สตีเฟ่น เทย์เลอร์ นักจิตวิทยาและผู้ประพันธ์หนังสือเกี่ยวกับภาวะการระบาดใหญ่ทั่วโลก บอกว่า คนเราจะห่วงตัวเอง มากกว่าคนอื่น เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย หรือคนที่ไม่รู้จัก
เดวิด โรพิค ผู้เชี่ยวชาญด้านความเสี่ยง แนะนำว่า คนเราอาจจะผ่อนคลายและเครียดเรื่องความเสี่ยงติดเชื้อน้อยลงได้ ด้วยการไม่ขยันแชร์หรือส่งต่อข่าวที่มีสารเล็กน้อย หรือแทบไม่มีเลย และไม่แชร์แต่ข่าวร้ายที่มีแต่ข้อมูลน่ากลัวเพียงอย่างเดียว
ท้ายสุด โรพิค เชื่อว่า การที่เราหยุดรับข่าวสารจากการชมช่องข่าว 24 ชั่วโมงบ้าง ด้วยการวางโทรศัพท์มือถือลง และหันไปทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น อ่านหนังสือ ก็จะช่วยให้ไม่ตกอยู่ในความเครียดและตื่นกลัวเกินไปได้