Your browser doesn’t support HTML5
วิกฤตโคโรนาไวรัสส่งผลให้ระดับมลพิษทั่วโลกลดลงอย่างมาก กลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่างรู้สึกยินดีกับการเปลี่ยนแปลงนี้ แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนเตือนว่า ระดับมลพิษมีแนวโน้มที่จะกลับคืนสู่สภาพเดิมเหมือนก่อนที่จะเกิดวิกฤติ เมื่อสถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติ
หลังจากรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ใช้มาตรการล็อคดาวน์และมีนโยบายให้ประชาชนกักตัวเองอยู่ที่บ้าน ดูเหมือนท้องฟ้าตามเมืองต่าง ๆ แจ่มใสขึ้นกว่าเดิม ตั้งแต่นครนิวยอร์กไปจนถึงกรุงปารีส และกรุงปักกิ่ง
ข้อมูลดาวเทียมแสดงให้เห็นว่าระดับไนโตรเจนไดออกไซด์ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษในอากาศ ลดลงประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ในหลายพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับเมื่อห้าปีก่อน
Michelle Manion นักเศรษฐศาสตร์ที่สถาบัน World Resources Institute ในสหรัฐฯ ตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงไม่กี่วันมานี้ สภาพอากาศที่นครบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ แจ่มใสมากจนเธอสามารถอ่านตัวอักษรที่อยู่ทางด้านบนของอาคาร Prudential ซึ่งเป็นตึกที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของเมืองนี้ ซึ่งเธอไม่เคยมองเห็นตัวอักษรเหล่านั้นมาก่อนเลย
Charlie Baker ผู้ว่าการรัฐแมสซาชูเซตส์ เริ่มสั่งปิดโรงเรียนและธุรกิจกิจต่าง ๆ ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม ตั้งแต่นั้นมาการจราจรบนท้องถนนในพื้นที่ลดลงราว 66% การที่ผู้คนไม่เดินทางไปไหนมาไหน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย
ปริมาณการจราจรบนท้องถนนและการเดินทางทางอากาศที่ลดลงอย่างมาก ทำให้ความต้องการน้ำมันทั่วโลกลดลงอย่างมากด้วย โดยที่ผ่านมา สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ใช้น้ำมันมากกว่าประเทศอื่น ๆ แต่ปริมาณความต้องการน้ำมันของสหรัฐฯ ลดลงต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยในเดือนมกราคมถึงกลางเดือนมีนาคมถึง 31% ตามรายงานของสำนักงานข้อมูลด้านพลังงานของสหรัฐฯ
Carbon Brief เว็บไซต์การวิจัยสภาพอากาศของประเทศอังกฤษ คาดการณ์ว่าการลดลงของการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลเช่นถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ อาจช่วยลดการปล่อยมลพิษลง 5.5% ในปีนี้ ซึ่งนับว่าลดลงมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา และลดมากกว่าในช่วงเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ระหว่างปีพ.ศ. 2551-2552 ถึงสี่เท่า
แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นนี้ไม่น่าจะอยู่ได้นาน
Michael Gerrard ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมาย Saban Center for Climate Change Law ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในนครนิวยอร์ค คาดการณ์ว่าสถานการณ์ต่าง ๆ จะกลับมาเป็นเหมือนเดิมเมื่อวิกฤตโคโรนาไวรัสสิ้นสุดลง
ภาพถ่ายจากดาวเทียมแสดงให้เห็นว่าระดับมลพิษทางอากาศในประเทศจีนสูงขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ หลังจากที่บางอุตสาหกรรมเริ่มเปิดกิจการหลังจากการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้ชะลอตัวลง
นอกจากนี้แล้ว วิกฤตโคโรนาไวรัสยังส่งผลกระทบต่อบริษัทพลังงานทดแทนอีกด้วย BloombergNEF (BNEF) องค์กรการวิจัยด้านพลังงานได้ปรับลดประมาณการณ์ด้านการขยายตัวของพลังงานลมทั่วโลกในปี พ.ศ. 2563 ลง 12% และพลังงานแสงอาทิตย์ถูกปรับลดลง 8%
การลงทุนในพลังงานหมุนเวียนก็มีน้อยลง และยอดขายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าลดลง 40% เมื่อเทียบกับเมื่อปีที่แล้ว
ประมาณการณ์ของ BloombergNEF เกี่ยวกับการขยายตัวของพลังงานหมุนเวียนแสดงให้เห็นว่า โลกของเรายังไม่บรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำหนดภายใต้ข้อตกลงกรุงปารีสตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ปี พ.ศ. 2558 ว่าด้วยการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มขึ้นไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส
Logan Goldie-Scot หัวหน้าฝ่ายพลังงานสะอาดของ BNEF กล่าวกับ VOA ว่า ยิ่งความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโคโรนาไวรัสมีมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเป็นการยากสำหรับโลกของเราที่จะบรรลุเป้าหมายของสหประชาชาติมากขึ้นเท่านั้น