นักวิทยาศาสตร์เปิดเผยว่า ภาวการณ์ละลายของหิมะบนยอดเขาหิมาลัย ส่งผลให้ปรากฏการณ์ “เมือกเขียว” ในทะเลอาหรับขยายตัวอย่างรวดเร็ว และอาจส่งผลกระทบต่อระบบห่วงโซ่อาหารในทะเลได้
รายงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature’s Scientific Reports แสดงภาพถ่ายดาวเทียมจากองค์การนาซา ที่ทำให้เห็นภาวะน้ำทะเลเปลี่ยนสี เหมือนถูกปกคลุมด้วยเมือกสีเขียว เพราะการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของแพลงตอนพืชชนิดหนึ่งในทะเลอาหรับ จนส่งผลเสียต่อการประมงในภูมิภาคนี้ที่มีประชากรราว 150 ล้านคนแล้ว
โฮอาควิม โกเอส นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กล่าวว่า ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในทะเลอาหรับคือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก และสืบเนื่องมาจากภาวการณ์เปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก
โกเอส บอกว่า ปรากฏการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณชายฝั่งของไทยและเวียดนาม รวมทั้งในแถบหมู่เกาะซีเชลส์ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหากับคุณภาพน้ำเสียและการตายของสิ่งมีชีวิตในทะเลเป็นจำนวนมาก
นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า ปกติลมมรสุมฤดูหนาวจะพัดพาจากยอดเขาหิมาลัยจะทำให้ผิวน้ำในมหาสมุทรเย็นลง แต่ภาวะโลกร้อนทำให้ภูเขาน้ำแข็งและหิมะบนยอดเขาหิมาลัยละลายมากขึ้น กลับทำให้เกิดลมร้อนและความชื้นสูง ซึ่งส่งผลให้แพลงตอนดังกล่าวเติบโตได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง่เมื่อแพลงตอนชนิดนี้ไม่ได้พึ่งพาแสงอาทิตย์หรือสารอาหารใดๆ แต่เติบโตได้จากการกินจุลินทรีย์ต่างๆ แทน