คงปฏิเสธไม่ได้ว่า คำถามที่คนทั่วโลกรอคำตอบอยู่ในเวลานี้ คือ วัคซีนต้านโควิด-19 จะพร้อมใช้งานจริงเมื่อใด หลังจากมีผู้เชี่ยวชาญและเกี่ยวข้องออกมาให้ความหวังไว้ว่า อย่างเร็วที่สุดคือปลายปีนี้ ขณะที่หลายฝ่ายเชื่อว่า ไตรมาสแรกของปี ค.ศ. 2021 น่าจะเป็นช่วงเวลาที่แน่นอนกว่าที่จะได้เห็นวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสำหรับการใช้งาน
สำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า ในเวลานี้ที่บริษัทยาและรัฐบาลหลายแห่งทั่วโลกกำลังเร่งพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 กันอย่างเร่งด่วน แต่ยังไม่สัญญาณแน่ชัดจากฝ่ายใดว่า วัคซีนดังกล่าวจะมีออกมาใช้งานได้เมื่อใดกันแน่
นายแพทย์ แอนโธนี่ เฟาชี่ ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติของสหรัฐฯ แสดงความหวังไว้ว่า อย่างน้อยหนึ่งในโครงการพัฒนาวัคซีนของบริษัทยาต่างๆ ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ให้เงินสนับสนุนไว้จะประสบความสำเร็จในปีนี้และจะมีการผลิตวัคซีนสัก 200-300 ล้านโดสออกมาพร้อมใช้งานภายในต้นปีหน้า
แต่แพทย์หลายรายให้ความเห็นว่า การที่จะเห็นการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 สำเร็จพร้อมใช้งานภายในเดือนมกราคมปีหน้า เป็นการตั้งเป้าที่ถือว่าหวังไว้สูงมาก
เหตุผลที่มีผู้แสดงความไม่แน่ใจในเรื่องนี้ก็เพราะ ตามปกติ การพัฒนาวัคซีนใดๆ ก็ตามต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนมากมายกว่าจะถึงจุดที่มั่นใจว่า ยานั้นใช้งานได้ดีและปลอดภัยสำหรับผู้รับด้วย ซึ่ง แพทย์หญิง เอมิลี่ เอร์เบลดิง ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อจากสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ กล่าวว่า อาจใช้เวลานานถึง 8-10 ปี
ในการพัฒนาวัคซีนตัวหนึ่งนั้น จะเริ่มต้นกับการทดลองกับสัตว์ ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนการทดลองกับมนุษย์ ที่มีอยู่ 3 เฟส โดยในเฟสที่ 1 จะเป็นการทดลองกับอาสาสมัครกลุ่มเล็กเพื่อประเมินความปลอดภัย ซึ่งถ้าไม่มีปัญหา ก็จะไปสู่เฟสที่ 2 ซึ่งจะมีอาสาสมัครเข้าร่วมทดลองมากขึ้นเป็นหลักร้อยคน โดยการทดลองจะเป็นการสุ่ม และมีการนำผู้ที่อยู่ในข่ายเสี่ยง เช่น มีอายุหรือมีปัญหาสุขภาพ เข้าร่วมด้วย และเมื่อทุกอย่างออกมาเรียบร้อยดี ก็จะไปเข้าสู่เฟสที่ 3 ซึ่งเป็นขั้นตอนที่เน้นเรื่องของประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยา โดยการทดลองกับอาสาสมัครนับพันหรือนับหมื่นคน เพื่อให้นักวิจัยได้ประเมินเรื่องของผลข้างเคียงของการใช้ยา
ในอดีต มีรายงานเกี่ยวกับผลเสียของการเร่งพัฒนาและใช้วัคซีนมาบ้างแล้ว เช่น เมื่อปี ค.ศ. 2017 ที่รัฐบาลฟิลิปปินส์เร่งดำเนินแผนฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกให้กับเด็ก 1 ล้านคน แต่ก็ต้องหยุดชะงักลงก่อนสำเร็จเนื่องจากปัญหาด้านความปลอดภัย หลังมีรายงานเด็กที่ได้รับวัคซีนเสียชีวิตไป 10 คน หรือ เมื่อปี ค.ศ. 1976 ที่สหรัฐฯ มีปัญหาการระบาดของไข้หวัดหมู และรัฐบาลของประธานาธิบดี เจอรัลด์ ฟอร์ด เพิกเฉยต่อคำเตือนขององค์การอนามัยโลก และเดินหน้าทำการฉีดวัคซีนให้กับทุกคนในประเทศเพื่อรับมือกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ แต่หลังจากมีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนราว 45 ล้านคน นักวิจัยพบว่า มีผู้คนประมาณ 450 คนมีอาการของโรคที่เกี่ยวกับการอักเสบของเส้นประสาท ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น่ากังวล และสุดท้ายอย่างน้อย 30 คนเสียชีวิตไป
ต่อข้อถามที่ว่าหากมีการเร่งผลิตวัคซีน จะปลอดภัยหรือไม่ นายแพทย์ ฟรานซิส คอลลินส์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ กล่าวว่า หากมีการพัฒนาวัคซีนใหม่แต่ไม่มีการตรวจสอบอย่างละเอียดแล้วก็ไม่ควรนำออกมาใช้เลย เพราะไม่มีอะไรที่จะยืนยันว่า วัคซีนนั้นปลอดภัย และสามารถช่วยปกป้องผู้รับยาได้จริง
อย่างไรก็ดี แรงกดดันต่อการมีวัคซีนทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายพยายามหาทางเร่งกระบวนการทั้งหมดแล้ว เช่น ที่นครซีแอตเติล และนครแอตแลนตา ที่นักวิจัยวางแผนทดสอบวัคซีนกับทั้งสัตว์และคนไปพร้อมๆ กัน ขณะที่นายแพทย์ แอนโธนี่ เฟาชี่ ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า จะมีการเริ่มผลิตวัคซีนรอไว้เป็นจำนวนมากก่อนการทดลองสิ้นสุดลงในบางกรณี เช่น โครงการร่วมมือระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ และบริษัทยา Moderna Inc เป็นต้น ด้วยความหวังว่า หากผลการทดลองออกมาสำเร็จ ประชาชนหลายล้านคนจะมีโอกาสได้ใช้วัคซีนทันที
รายงานข่าวของ ซีเอ็นเอ็น ระบุว่า ในขณะนี้ มีโครงการพัฒนาวัคซีนอยู่กว่า 120 โครงการทั่วโลก โดยบางโครงการมีความคืบหน้ากว่าคนอื่นพอควร เช่น 4 โครงการในสหรัฐฯ และ 5 โครงการในจีน รวมทั้ง 1 โครงการในสหราชอาณาจักรที่เริ่มการทดลองกับมนุษย์แล้ว ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก
ในเรื่องของราคาวัคซีนที่บางฝ่ายกังวลนั้น องค์การแพทย์ไร้พรมแดน ออกมาเรียกร้องให้ผู้นำโลกเจรจากับบริษัทยาทั้งหลายจำหน่ายวัคซีนต้านโควิด-19 ในราคาต้นทุน เพราะสถานการณ์ปัจจุบันไม่ใช่เวลาที่ใครจะยึดติดกับหลักการค้ากำไรได้ ขณะที่รัฐบาลหลายแห่งได้ให้เงินสนับสนุนการพัฒนาวัคซีนไปรวมแล้วกว่า 4,400 ล้านดอลลาร์แล้ว
อีกประเด็นที่มีผู้สงสัยคือ แม้จะมีวัคซีนออกมาใช้งานแล้ว ผู้ที่ได้รับการฉีดแล้วจะต้องกลับมารับยาอีกหรือไม่ หรือเพียงเข็มเดียวก็เพียงพอ ซึ่งนักวิจัยเองยังไม่สามารถตอบได้ แต่หลายคนเชื่อว่า น่าต้องมีการฉีดมากกว่า 1 เข็มเพื่อให้ได้ผลจริง
คำถามอีกข้อที่สำคัญคือ ท้ายสุดแล้ว วัคซีนที่เร่งพัฒนาออกมาจะมีประสิทธิภาพป้องกันโควิด-19 ได้จริงหรือ ซึ่ง นายแพทย์ เดวิด นาบาร์โร ศาสตราจารย์ด้านสุขภาพโลกแห่ง Imperial College London กล่าวว่า ความเป็นจริงก็คือ ยังไม่มีใครสามารถพูดได้เต็มปากว่า ความพยายามนี้จะประสบความสำเร็จได้จริง และยิ่งกว่านั้น หากมนุษย์ไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่หลังได้รับวัคซีนแล้ว ยาตัวนี้ก็จะไม่มีประโยชน์ใดๆ เลย