Your browser doesn’t support HTML5
การประชุม 2021 United Nations Climate Change Conference หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า COP26 ขององค์การสหประชาชาติ มีขึ้นระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม - 12 พฤศจิกายนนี้ที่เมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์
เป็นการประชุมระหว่างประเทศเพื่อทำความตกลงเรื่องเป้าหมายและมาตรการต่าง ๆ ในความพยายามควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับอุณหภูมิในช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมคือเมื่อกว่า 200 ปีที่แล้ว
ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมชี้ว่า การประชุมระหว่างประเทศครั้งนี้มีความสำคัญที่สุดนับตั้งแต่การประชุมที่กรุงปารีสเมื่อหกปีที่แล้ว แต่ก็มีปัญหาท้าท้ายระดับโลกที่รอให้ขบแก้อยู่หลายเรื่องด้วยเช่นกัน
SEE ALSO: ผู้นำจี-20 บรรลุความตกลงโลกร้อน แต่นักรณรงค์หวั่นยังไม่เพียงพอ
ในการประชุมที่กรุงปารีสเมื่อหกปีที่แล้วซึ่งทำให้มีข้อตกลงกรุงปารีส หรือ Paris Agreement นั้น ตัวแทนจากนานาประเทศให้คำมั่นว่าจะพยายามทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นไม่เกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียสเหนืออุณหภูมิของโลกในช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม คือในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 หรือเมื่อกว่า 200 ปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ขณะที่ตัวแทนจากนานาประเทศกลับเข้าร่วมการประชุมติดตามผลซึ่งกำหนดขึ้นทุก ๆ ห้าปีนั้น นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมก็เตือนว่าโลกของเรากำลังร้อนขึ้นอย่างรวดเร็วเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ และหากไม่มีความพยายามเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมทั้งก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ อย่างจริงจังแล้ว โลกจะต้องพบกับภัยธรรมชาติในรูปต่าง ๆ นับตั้งแต่คลื่นความร้อนจัด พายุที่รุนแรง ภัยแล้งที่ยาวนาน รวมทั้งไฟป่าและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น เป็นต้น
ตามรายงานล่าสุดชื่อ United Nations Emissions Gap Report นั้น คำมั่นสัญญาและแผนดำเนินงานที่ประเทศต่าง ๆ นำเสนอเมื่อหกปีที่แล้ว ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพราะข้อมูลขณะนี้แสดงว่า โลกกำลังมุ่งหน้าสู่ภาวะของการมีอุณหภูมิสูงขึ้น 2.7 องศาเซลเซียส และผู้เชี่ยวชาญบางคนถึงกับเตือนด้วยว่าโลกกำลังจะอยู่บนเส้นทางของการร้อนขึ้น 3.7 องศาเซลเซียสด้วยและขณะที่มีหลายสิบประเทศให้สัญญาว่าจะพยายามบรรลุภาวะของการมีก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ หรือ “net-zero” emissions ภายในปีค.ศ. 2050 ซึ่งหมายถึงการลดการผลิตก๊าซคาร์บอน รวมทั้งหาทางกำจัดก๊าซดังกล่าวด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น เร่งปลูกป่านั้น รายงานของสหประชาชาติก็เตือนว่า แม้จะทำได้ตามสัญญาที่ให้ไว้ โลกของเราก็ยังจะอุ่นขึ้นในระดับ 2.2 องศาเซลเซียสอยู่ดี
คำถามก็คืออะไรเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญซึ่งทำให้เป้าหมายการควบคุมอุณหภูมิของโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสนี้ยังอยู่ห่างไกล? คำตอบอาจจะมาจากเงื่อนไขเฉพาะของแต่ละประเทศ ตัวอย่างเช่น สหรัฐฯ เองนั้น แม้ประธานาธิบดีไบเดนจะแสดงความมุ่งมั่นและความร่วมมือของสหรัฐฯ ในเรื่องนี้และสัญญาว่าสหรัฐต้องการจะบรรลุภาวะ “net-zero” emissions ภายในปีค.ศ. 2050 เช่นกันก็ตาม แต่ขณะนี้รัฐสภาสหรัฐฯ เองยังไม่ได้ออกกฎหมายใด ๆ ที่ให้อำนาจรัฐบาลในเรื่องนี้ นอกจากนั้น ข้อกำหนดที่สำคัญในร่างกฎหมายดังกล่าวก็ยังถูกแปรญัตติหรือถูกถอดออกจากตัวร่างด้วย
แต่นอกจากสหรัฐฯ รวมทั้งอีกหลายประเทศซึ่งแสดงความมุ่งมั่นในเรื่องนี้แล้ว จีนกับอินเดียที่เป็นผู้ผลิตก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของโลกยังไม่ได้เสนอแผนดำเนินการใด ๆ อย่างชัดเจน ส่วนเม็กซิโกกับบราซิลก็ดูเหมือนจะเดินถอยหลังในเรื่องนี้
ปัญหาอีกด้านมาจากการผิดคำมั่นสัญญาของประเทศที่พัฒนาแล้วเรื่องการให้เงินช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อต่อสู้กับปัญหาโลกร้อน เพราะเมื่อปี 2009 หรือ 12 ปีที่แล้ว กลุ่มประเทศที่ร่ำรวยสัญญาจะให้เงินช่วยเหลือรวมหนึ่งแสนล้านดอลลาร์ต่อปีแก่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่จะผลิตก๊าซคาร์บอนน้อยลง แต่องค์การ OECD รายงานว่า จนถึงปี 2019 เงินช่วยเหลือจากประเทศที่ร่ำรวยมีมูลค่ารวมกันเพียงแค่ราว 7 หมื่น 9 พันล้านดอลลาร์เท่านั้นโดยถึงแม้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วได้ประกาศแผนจะให้เงินช่วยเหลือให้ได้ตามเป้า คือหนึ่งแสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2023 ก็ตาม แต่เรื่องนี้ก็ไม่ได้ช่วยให้กลุ่มประเทศที่ยากจนกว่าผู้รอรับความช่วยเหลือพอใจแต่อย่างใด โดยประเทศเหล่านี้ชี้ว่า พวกตนไม่ได้เป็นผู้ผลิตก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ แต่กลับต้องได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและจากภัยธรรมชาติต่าง ๆโดยปริยาย
จะเห็นได้ว่าความร่วมมือระดับโลกและการดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อบรรลุเป้าหมายให้โลกมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส หรือในระดับใกล้เคียงเมื่อเทียบกับระดับอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรมของโลกนั้น อาจไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งนี้ตามความเห็นของคุณลอรีนา กอนซาเลส แห่งศูนย์ World Resources Institute Finance Center ที่ว่า โลกได้ผัดผ่อนเรื่องนี้มานานสำหรับปัญหาซึ่งมีความสลับซับซ้อนมากที่สุดปัญหาหนึ่งอย่างไรก็ตาม คุณคาเวห์ กุยลานพอร์ รองผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศของศูนย์วิเคราะห์นโยบายด้านสภาพภูมิอากาศชื่อ C2ES ก็หวังว่า การประชุม COP26 ครั้งนี้แม้อาจยังไม่สามารถสร้างผลลัพธ์ท้ายสุดได้ตามที่ต้องการ แต่การประชุมครั้งนี้ก็นับเป็นก้าวที่สำคัญ และจะไม่ใช่การประชุมระดับโลกเกี่ยวกับปัญหาเรื่องนี้ครั้งสุดท้ายอย่างแน่นอน
- ที่มา: VOA, Reuters