อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มเริ่มสนใจใช้หุ่นยนต์ผลิตเสื้อผ้า

USA-ECONOMY/ROBOTS

บริษัทเสื้อผ้าและเทคโนโลยีขนาดใหญ่ เช่น Siemens AG และ Levi Strauss & Co. ต่างกำลังพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อนำมาใช้ในการผลิตเสื้อผ้าอยู่ แต่กระบวนการใช้หุ่นยนต์หรือคอมพิวเตอร์ในการทำงานของมนุษย์ หรือ ระบบทำงานผ่านการควบคุมจากคอมพิวเตอร์ (automation) กลับสร้างความวิตกแก่ผู้คนมากมายทั่วโลกว่า ตนจะต้องตกงานในอนาคตอันใกล้นี้แล้วหรือไม่

Eugen Solowjow เป็นหัวหน้าโครงการผลิตเสื้อผ้าด้วยระบบ automation ของ Siemens ในซานฟรานซิสโกกล่าวว่า “เสื้อผ้าเป็นอุตสาหกรรมสุดท้ายที่มีมูลค่าล้านล้านดอลลาร์ ที่ยังไม่ได้พึ่งพาระบบอัตโนมัติ” โดยข้อมูลจากกลุ่มวิจัยอิสระ Statista ระบุว่า ตลาดเสื้อผ้าทั่วโลกมีมูลค่าราว 1.52 ล้านล้านดอลลาร์

แนวคิดในการใช้หุ่นยนต์เพื่อเพิ่มการผลิตในสหรัฐฯ นั้น ได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก และชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงของการพึ่งพาโรงงานที่อยู่ห่างไกลออกไป

แต่การย้ายฐานการผลิตเสื้อผ้ากลับไปสู่ตลาดตะวันตก รวมทั้งในสหรัฐฯ นั้นเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน

บริษัทเสื้อผ้าหลาย ๆ แห่งยังลังเลที่จะออกมาพูดเกี่ยวกับการใช้ระบบ automation เพราะกลัวว่าจะเป็นการสร้างความกังวลให้แก่สาธารณชนว่า ระบบดังกล่าวจะเข้ามาแย่งงานจากคนงานในประเทศยากจนต่าง ๆ

ขณะเดียวกัน นักวิจัยห้าคนให้ข้อมูลกับรอยเตอร์ว่า การเย็บเสื้อผ้าโดยการใช้เข็มและด้ายนั้นเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะเปลี่ยนให้เป็นระบบอัตโนมัติ เนื่องจากหุ่นยนต์ไม่มีทักษะการสัมผัสที่ดีเท่ามือมนุษย์ และแม้ว่า ตอนนี้จะมีการพัฒนาขึ้นมาบ้างแล้ว ผู้ที่เกี่ยวข้องยังน่าจะต้องใช้เวลาอีกหลายปีเพื่อพัฒนาความสามารถของหุ่นยนต์ทั้งหลายให้เย็บผ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาว่า หากหุ่นยนต์สามารถผลิตเสื้อผ้าได้เพียงพอ อาจช่วยลดส่วนต่างของต้นทุนระหว่างโรงงานในสหรัฐฯ และในต่างประเทศได้

Solowjow กล่าวว่า โครงการพัฒนาระบบ automation ที่ Siemens นั้นต่อยอดมาจากความพยายามในการผลิตซอฟต์แวร์เพื่อช่วยหุ่นยนต์ให้สามารถจัดการกับวัสดุได้ทุกประเภท เช่น สายเคเบิลเส้นเล็ก ๆ ก่อนที่ นักวิจัยจะตระหนักว่า หนึ่งในเป้าหมายที่ดีที่สุดในการใช้ระบบดังกล่าวก็คือ การผลิตเสื้อผ้านั่นเอง

Siemens ทำงานร่วมกับ Advanced Robotics for Manufacturing (ARM) Institute ในเมืองพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย เพื่อหาวิธีจัดการกับปัญหาในเรื่องผ้า และพบว่า บริษัทสตาร์ทอัพ Sewbo Inc. ที่ตั้งอยู่ในนครซานฟรานซิสโกมีความรู้ความสามารถที่จะมาช่วยพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อจัดการกับปัญหาเนื้อผ้าต่าง ๆ ได้ โดยบริษัทแห่งนี้เชี่ยวชาญในการทำให้เนื้อผ้าแข็งขึ้นด้วยสารเคมี โดยผ้าที่ชุบแข็งจะมีลักษณะคล้ายกับวัสดุอื่น ๆ ที่หุ่นยนต์สามารถจัดการได้ เช่น โลหะ และเมื่อหุ่นยนต์เย็บผ้าเสร็จแล้ว เสื้อผ้าก็จะถูกนำไปซักเพื่อขจัดสารเคมีดังกล่าวออกไป

USA-ECONOMY/ROBOTS

Jonathan Zornow ซึ่งเป็นนักประดิษฐ์ของ Sewbo กล่าวว่า "ผ้าเดนิมเกือบทุกชิ้นจะถูกนำไปซักหลังการตัดเย็บ ดังนั้นวิธีการนี้จึงสามารถเข้าได้กับระบบการผลิตที่มีอยู่ก่อนแล้ว"

ปัจจุบัน มีการขยายวงการทำงานเพื่อพัฒนาวิจัยนี้ให้กว้างออกไปอีก และมีบริษัทผู้ผลิตเสื้อผ้าหลายแห่งเข้าร่วมด้วย อาทิ Levi’s และ Bluewater Defense LLC ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเสื้อผ้าเครื่งแบบทหารขนาดเล็กในสหรัฐฯ โดยบริษัทเหล่านี้ได้รับเงินสนับสนุนจำนวน 1.5 ล้านดอลลาร์จากสถาบัน ARM ในการทดลองใช้เทคนิคนี้

นอกจากนี้ ยังมีความพยายามอื่น ๆ ในการเปลี่ยนโรงงานตัดเย็บให้หันมาใช้ระบบ automation มากขึ้น อย่างเช่น ที่ Software Automation Inc บริษัทสตาร์ทอัพในรัฐจอร์เจียซึ่งพัฒนาเครื่องจักรที่สามารถเย็บเสื้อผ้าโดยการขึงผ้าลงบนโต๊ะชนิดพิเศษ เป็นต้น

Sanjeev Bahl ซึ่งเปิดโรงงานผลิตกางเกงยีนส์เล็ก ๆ ที่ชื่อ Saitex ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางนครลอสแองเจลิสเมื่อสองปีก่อน ได้ลองศึกษาเครื่องจักรของ Sewbo ดู และเวลานี้ กำลังเตรียมที่จะติดตั้งเครื่องจักรทดลองเครื่องแรกที่โรงงานแล้ว

Bahl กล่าวว่า งานตัดเย็บใหม่ ๆ รายส่วนพร้อมที่จะลองใช้กระบวนการเย็บแบบ automation แล้ว และว่า “ถ้าหากวิธีนี้ใช้ได้ผล ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่เปิดโรงงานผลิตยีนส์ขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ อีกครั้ง”

  • ที่มา: รอยเตอร์