Your browser doesn’t support HTML5
ความเกี่ยวพันระหว่างอาการจำผิดจำถูกกับโรคสมองเสื่อมชนิดอัลไซม์เมอร์ส
เจสสิก้า เบอร์มัน ผู้สื่อข่าววีโอเอที่กรุงวอชิงตันรายงานว่าทีมนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัย Kentucky เปิดเผยในผลการศึกษาชิ้นล่าสุดเกี่ยวกับการแก่ตัวของคนเราว่าอาการจำผิดจำถูกที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในผู้ใหญ่วัยทองอาจเป็นสัญญาณที่ส่อถึงอาการข้างต้นของโรคสมองเสื่อมอัลไซม์เมอร์ส
ในการศึกษา ทีมนักวิจัยให้ผู้สูงวัยทั้งหมด 531 คนที่มีอายุโดยเฉลี่ย 73 ปี และไม่เป็นโรคความจำเสื่อมชนิดดิเมนเทียทำการตอบแบบสอบถามว่าเคยมีปัญหาเกี่ยวกับความจำผิดพลาดหรือไม่ในช่วงหนึ่งปีก่อนหน้าการสำรวจ ทีมนักวิจัยยังให้ผู้เข้าร่วมการศึกษาทำการทดสอบด้านความทรงจำและความสามารถด้านความคิดอ่านเป็นประจำทุกปีตลอดระระยะเวลานาน 10 ปีติดต่อกัน
ผู้เข้าร่วมการสำรวจอย่างน้อย 56 เปอร์เซ็นต์ชี้ว่าเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านความจำโดยเริ่มมีอาการตอนอายุประมาณ 82 ปี หลังจากผู้สูงวัยกลุ่มนี้เสียชีวิต ทีมวิจัยทำการชันสูตรสมองของผู้สูงอายุในกลุ่มนี้อย่างน้อย 243 คนเพื่อค้นหาร่องรอยของโรคอัลไซม์เม่อร์ส
ผู้สื่อข่าววีโอเอรายงานว่าทีมนักวิจัยพบว่าผู้สูงอายุที่ตอบแบบสอบถามว่าเคยมีอาการจำผิดจำถูก ร่วมกับอาการขี้หลงขี้ลืมแบบอ่อนๆ เป็นผู้ที่มีโอกาสสูงขึ้น 3 เท่าตัวที่จะเป็นโรคความจำและความคิดอ่านบกพร่องประเภทดิเมนเทีย โรคสมองเสื่อมอัลไซม์เม่อร์สเป็นสาเหตุของอาการหลงลืมแบบดิเมนเทีย
ทีมนักวิจัยพบว่าผู้เข้าร่วมการสำรวจเริ่มปรากฏอาการของโรคความจำเสื่อมดิเมนเทีย 12 ปีหลังจากรายงานว่าตนมีอาการจำผิดจำถูก ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้สูงวัยในการศึกษาที่ชี้ว่าตนเกิดอาการจำผิดจำถูก ได้กลายเป็นโรคดิเมนเทียในเวลาต่อมา
คุณริชาร์ด ไครสซิโอ หัวหน้าทีมนักวิจัยกล่าวว่าผลการศึกษานี้กลายเป็นหลักฐานเพิ่มเติมที่ยืนยันว่าความบกพร่องที่เกิดกับความจำนี้เป็นสัญญาณแรกเริ่มของโรคดิเมนเทีย
แหล่งกำเนิดของโรคเอดส์ที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกไปแล้ว 36 ล้านคน
ผลการศึกษาชิ้นใหม่ได้ค้นพบว่าโรคเอดส์กำเนิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1920 ที่เมืองกินชาซา ในอาฟริกากลาง ซึ่งปัจจุบันคือประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
Alex Villarreal ผู้สื่อข่าววีโอเอรายงานว่าทีมนักวิจัยนานาชาติทีมนี้แกะรอยประวัติทางพันธุกรรมของเชื้อไวรัสเอชไอวีโดยใช้ตัวอย่างรหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัสที่ถูกจัดเก็บเอาไว้
ทีมนักวิจัยเชื่อว่าเริ่มแรกเชื้อไวรัสเอชไอวีติดต่อสู่คนจากเลือดของเนื้อลิงชิมแปนซีที่ติดเชื้อ พวกเขาชี้ว่าปัจจัยที่ส่งเสริมให้โรคเอดส์แพร่ระบาดมีหลายประการรวมทั้งการคมนาคมขนส่งทางรถไฟและทางเรือในช่วงทศวรรษที่ 1960s ธุรกิจการค้าประเวณีที่รุ่งเรือง และการใช้เข็มฉีดยาใช้แล้วโดยไม่ได้รับการฆ่าเชื้อในคลีนิคทางการแพทย์
ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1940s มีผู้คนมากกว่าล้านคนที่ใช้บริการของรถไฟในเมืองกินชาซา ซึ่งตอนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของคองโกที่เป็นปกครองโดยเบลเยี่ยม มีผลให้โรคเอดส์ระบาดจากเมืองกินชาซาไปทั่วอาฟริกาและทั่วโลก
ขนาดรอบเอวกับโอกาสเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อการเป็นมะเร็งทรวงอก
เจสสิก้า เบอร์มัน ผู้สื่อข่าววีโอเอที่กรุงวอชิงตันรายงานว่าทีมนักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย University College กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษพบว่าขนาดรอบเอวกระโปรงที่ใหญ่ขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งต่อการเกิดมะเร็งทรวงอก
การศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการคัดกรองมะเร็งรังไข่ที่มีผู้หญิงชาวอังกฤษเข้าร่วมจำนวน 93,000 คน อายุ 50 ปีขึ้นไปและอยู่ในวัยหมดประจำเดือนแล้ว การศึกษานี้ยาวนาน 10 ปี เริ่มต้นขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2548
นอกจากน้ำหนักตัวและส่วนสูงรวมทั้งประวัติครอบครัวกับการเป็นมะเร็งทรวงอกและมะเร็งรังไข่แล้ว ทีมนักวิจัยยังสอบถามผู้เข้าร่วมการศึกษาถึงขนาดรอบเอวกระโปรงปัจจุบันกับขนาดรอบเอวในตอนช่วงอายุ 20 ปีขึ้นไปประกอบด้วย
เมื่อสิ้นสุดการศึกษา 10 ปีต่อมา นักวิจัยพบว่ามีผู้หญิงในการวิจัยอย่างน้อย 1,100 เป็นมะเร็งทรวงอก ผู้หญิงที่เป็นมะเร็งทรวงอก 3 ใน 4 คนเปลี่ยนขนาดรอบเอวกระโปรงจากเบอร์ 8 ตามขนาดมาตรฐานสหรัฐหรือเบอร์ 40-44 ของยุโรปที่เคยสวมในสมัยที่เป็นสาวๆ ไปเป็นขนาดที่ใหญ่กว่าหนึ่งขนาด เป็นเบอร์ 10 ของสหรัฐหรือเบอร์ 42-46 ของยุโรปเมื่ออายุราว 64 ปี
ทีมนักวิจัยเชื่อว่าขนาดเอวกระโปรงให้ใหญ่ขึ้นไปหนึ่งขนาดทุกๆ สิบปีมีส่วนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งทรวงอกขึ้นไปอีก 33 เปอร์เซ็นต์ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนแล้วและหากขนาดเอวประโปรงเพิ่มขึ้นไปทีละสองขนาดทุกสิบปี ความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งทรวงอกก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 77 เปอร์เซ็นต์