งานวิจัยที่ Washington University ที่นครเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี่ ติดตามเก็บข้อมูลชาวอเมริกัน 7,000 คน อายุระหว่าง 30-90 ปี โดยให้ตอบแบบสอบถามแล้วติดตามตรวจสอบว่ากลุ่มตัวอย่างแต่ละคนมีปัญหาสุขภาพอะไรบ้าง นับเป็นรายงานชิ้นแรกที่พยายามศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพของคนกับสุขภาพของคนๆ นั้น
รายงานได้แบ่งบุคลิกลักษณะของคนที่มีผลต่อสุขภาพออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ
แบบแรกคือ บุคลิกแบบเอาใจใส่ รอบคอบ ระมัดระวัง เอาการเอางาน พึ่งพาได้ ชอบจัดการและชอบควบคุมสถานการณ์ต่างๆ คนกลุ่มนี้จะชอบออกกำลังกาย ทานอาหารมีประโยชน์ และไม่ค่อยยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขหรือยาเสพติด คนกลุ่มนี้จึงมักไม่ค่อยป่วยเป็นโรคไขข้อ โรคหัวใจ หรือความดันโลหิตสูง
แบบที่สองคือ บุคลิกแบบเปิดเผย ตรงไปตรงมา ฉลาดและชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่ชอบทำอะไรซ้ำซากจำเจ รายงานบอกว่าคนกลุ่มนี้ชอบทำกิจกรรมท้าทายสมอง เช่นแก้ปัญหาเชาว์ต่างๆ หรืออ่านหนังสือ ซึ่งส่งผลดีต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต นอกจากนั้นคนกลุ่มนี้ยังมีแนวโน้มตัดสินใจได้ดีเกี่ยวกับสุขภาพร่างกายตนเอง ทำให้คนกลุ่มนี้มีโอกาสน้อยเช่นกันที่จะเป็นโรคหัวใจหรือโรคเกี่ยวกับอาการทางสมอง
บุคลิกแบบที่สามคือ คนที่ชอบใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล เป็นคนที่ช่างวิตกกังวลและคิดมาก คนที่มีบุคลิกแบบนี้มักมีปัญหาด้านสุขภาพที่เกิดจากความเครียด ส่งผลกระทบต่อภูมิคุ้มกันและเพิ่มภาวะอักเสบในร่างกาย ทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย
รายงานแนะนำให้คนกลุ่มที่สามพยายามใช้วิธีสงบจิต ทำสมาธิ ซึ่งเป็นแนวทางที่กำลังได้รับความนิยมในโลกตะวันตก เพราะเมื่อทำบ่อยๆ จะช่วยลดความหวาดวิตกต่างๆ ได้ ถือเป็นการปรับสมดุลในจิตใจ และอาจเปลี่ยนบุคลิกภาพให้กลายเป็นคนคิดดีมีความสุขได้ด้วย และนั่นทำให้ร่างกายสดใสแข็งแรงไปด้วย
รายงานวิจัยเรื่องนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Social Psychological and Personality Science
รายงานจาก Yahoo! / เรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล