มหาวิทยาลัยชั้นนำบางแห่งในสหรัฐฯ ใช้เวลาไม่ถึง 10 นาทีพิจารณาใบสมัครของนักเรียน

A student at Roosevelt High School fills out a college enrollment application at her school in Washington, D.C., Nov. 14, 2013.

ข้อเสียคือผู้ตัดสินใจอาจไม่เห็นภาพของผู้สมัครโดยองค์รวมและขาดบริบทที่จำเป็น

Your browser doesn’t support HTML5

มหาวิทยาลัยชั้นนำบางแห่งในสหรัฐพิจารณาใบสมัครของนักเรียนภายในเวลาไม่ถึง 10 นาที

หนังสือพิมพ์ Wall Street Journal รายงานว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำบางแห่งในสหรัฐฯ พิจารณาใบสมัครของนักศึกษาภายในเวลาเพียงแค่ 8 นาที

โดยขณะนี้มีมหาวิทยาลัยชั้นนำราว 30 แห่ง เช่น สถาบัน Georgia Institute of Technology, Rice University หรือ Bucknell University เห็นว่าการที่เจ้าหน้าที่รับนักศึกษาต้องอ่านชุดใบสมัครของนักเรียนทั้งหมดเพียงคนเดียวเป็นเรื่องที่เสียเวลาและขาดประสิทธิภาพ

และหันมาใช้วิธีใหม่ด้วยการแบ่งงานให้เจ้าหน้าที่ Admission Officer สองคนช่วยกันทำงาน โดยคนหนึ่งจะทำหน้าที่ดูผลการเรียนรายวิชา คะแนนทดสอบต่างๆ รวมทั้งจดหมายสนับสนุนจากที่ปรึกษาฝ่ายแนะแนวของโรงเรียนมัธยมปลาย ในขณะที่อีกคนจะพิจารณาเรื่องกิจกรรมนอกหลักสูตรต่างๆ รวมทั้งเรียงความของผู้สมัครเป็นหลัก

การแบ่งงานให้เจ้าหน้าที่สองคนพิจารณาในส่วนที่ตนรับผิดชอบไปพร้อมกัน แล้วมาหารือกันเกี่ยวกับจุดแข็งหรือจุดอ่อนของผู้สมัคร เพื่อตัดสินใจว่าจะรับ จะปฏิเสธ หรือจะใส่ชื่อนักเรียนผู้สมัครอยู่ในบัญชีรอไปก่อนนี้ ใช้เวลาเพียงไม่ถึง 8 นาที

ซึ่งทางมหาวิทยาลัยที่หันมาใช้ระบบนี้บอกว่าช่วยให้ประหยัดเวลา และเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจได้มากทีเดียว

มหาวิทยาลัยซึ่งนำกระบวนการใหม่ดังกล่าวมาใช้ให้เหตุผลด้วยว่า เรื่องนี้มีความจำเป็น เนื่องจากใบสมัครที่ได้รับแต่ละปีนั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และการแบ่งงานให้เจ้าหน้าที่สองคนช่วยกันพิจารณาจะช่วยลดปัญหาการมีอคติ และทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ตัดสินใจรู้ถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของผู้สมัครได้เป็นอย่างดีและละเอียดมากขึ้น

นอกจากนั้น วิธีดังกล่าวยังช่วยลดปัญหาการลาออกของเจ้าหน้าที่หลังฤดูการเปิดรับใบสมัครด้วย เพราะมิฉะนั้นแล้วเจ้าหน้าที่ผู้พิจารณาใบสมัครมักรู้สึกว่าตนมีปัญหาข้อมูลท่วมท้นและเบื่อหน่ายที่ต้องอ่านชุดใบสมัครทั้งหมดของนักเรียนอยู่คนเดียวนานนับเป็นเดือน

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องประสิทธิภาพซึ่งมหาวิทยาลัยบางแห่งในสหรัฐฯ เห็นว่าเป็นข้อได้เปรียบในการพิจารณารับนักศึกษานั้น ถูกตำหนิคัดค้านโดยที่ปรึกษาฝ่ายแนะแนวรวมทั้งจากตัวนักเรียนเองด้วย โดยที่ปรึกษาฝ่ายแนะแนวบางคนตำหนิว่า วิธีแบ่งหน้าที่ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายรับสมัครนักศึกษาสองคนทำงานทำให้ผู้สมัครเสียเปรียบ เพราะเจ้าหน้าที่รับสมัครจะไม่ได้เห็นภาพในมุมกว้างหรือภาพองค์รวมของตัวนักเรียน รวมทั้งอาจทำให้มองพลาดหรือมีการมองข้ามจุดเด่นบางอย่างที่สำคัญของผู้สมัครได้ด้วย

พูดง่ายๆ ก็คือวิธีแบ่งงานให้เจ้าหน้าที่สองคนแยกกันดูแล้วมาหารือกันนี้ จะทำให้การตัดสินใจขาดบริบทที่จำเป็น

ส่วนตัวนักเรียนผู้สมัครเองก็ไม่สบายใจเช่นกัน อย่างนักเรียนมัธยมปลายคนหนึ่งในรัฐนิวแฮมป์เชียร์ บอกว่า ตนใช้เวลารวมสี่ปีเพื่อเรียนอย่างหนัก รวมทั้งใช้เวลาอีกมากมายเพื่อเตรียมใบสมัครและเขียนเรียงความ โดยมีการทบทวนซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่กระบวนการตัดสินใจรับหรือไม่รับนั้นใช้เวลาเพียงไม่ถึง 10 นาที ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจและไม่ยุติธรรม

ส่วนนักเรียนมัธยมปลายอีกคนหนึ่งที่รัฐนิวแฮมป์เชียร์ รู้สึกกังวลเช่นกันว่า เรียงความของตนซึ่งต้องการจะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการปรับตัวและการยอมรับสถานะของตัวเองในฐานะคนรักร่วมเพศนั้นจะไม่ได้รับการพิจารณาและให้ความสำคัญเท่าที่ควร และตนได้ใช้เวลามากมายในการเลือกเฟ้นถ้อยคำที่จะใช้ในเรียงความรวมทั้งการร้อยเรียงประโยคเพื่อบอกเล่าเรื่องราว

ถึงกระนั้นก็ตาม นักเรียนมัธยมปลายผู้นี้ก็ได้รับข่าวดี เพราะเขาได้รับการตอบรับจากมหาวิทยาลัย Swarthmore College ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำแห่งหนึ่งในสหรัฐฯเช่นกัน