มิเชล โจนส์ (Michelle Jones) เพิ่งออกจากคุกเมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา หลังจากถูกจองจำเป็นเวลานาน 20 ปีในความผิดข้อหาฆาตกรรมลูกชายอายุ 4 ขวบ เเม้ว่าเธอจะถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต เเต่ก็ได้รับการลดโทษเพราะเเสดงให้เห็นความฉลาด เเละมีความสามารถในการทำวิจัย
หลังจากออกมาจากเรือนจำ เธอได้สมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย เเต่เมื่อมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard) ค้นพบประวัติความผิดในข้อหาฆาตกรรมลูกชาย ทางมหาวิทยาลัยได้ยกเลิกการตอบรับให้เธอเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย
Jones ยอมรับว่าได้ทุบตีลูกชายจนเสียชีวิตเเละนำศพไปฝังในป่า อย่างไรก็ดี Jones เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (New York) เเทน โดยเรียนต่อระดับปริญญาเอกด้านอเมริกันศึกษา
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลขนักศึกษาที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ที่มีประวัติทางอาชญากรรม เเต่ผลการศึกษาในปี 2012 จากสมาคมกุมารเเพทย์อเมริกันประมาณว่า พอมาถึงอายุ 23 ปี ชาวอเมริกันเกือบ 1 ใน 3 เคยถูกตำรวจจับกุม
ผลการสำรวจเกี่ยวกับสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยพบว่า 66 เปอร์เซ็นต์ของสถาบันทั้งหมดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับความผิดทางอาญาของผู้สมัครเข้าเรียน และมหาวิทยาลัยส่วนมากใช้ข้อมูลนี้ในขั้นตอนพิจารณาการรับเข้าเป็นนักศึกษารอบแรก
ในใบสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ คำถามจะเป็นคำถามง่ายๆ ที่ให้ตอบ “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” ว่ามีประวัติทางอาชญากรรมหรือไม่
ซึ่งหากตอบ “ใช่” ในใบสมัครนั้น ก็จะใช้เวลานานกว่าเดิมในขั้นตอนการพิจารณา
ผลการศึกษาเกี่ยวกับผู้ต้องการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยโดยมหาวิทยาลัย State University ของนิวยอร์ก พบว่า เกือบ 2 ใน 3 ของคนที่มีประวัติทางคดีอาญาอุกฉกรรจ์ ไม่ส่งใบสมัครหลังจากถูกสอบถามในเรื่องนี้ เเละเมื่อผู้สมัครตอบรับว่ามีประวัติอาชญากรรม ผู้สมัครต้องตอบคำถามในข้อต่อไปที่ถามเกี่ยวกับข้อหาหรือความผิดทางอาญาของตนดังกล่าว
และการตอบรับว่ามีประวัติอาชญากรรม ยังมีผลกระทบต่อสิทธิ์ในการขอรับเงินทุนช่วยเหลือการศึกษาอีกด้วย
ผลการวิจัยในปี 2014 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Urban Economics สรุปว่า สำหรับนักศึกษากลุ่มเสี่ยง การมีสิทธิ์ของเงินช่วยเหลือทางการศึกษามีผลกระทบสูงต่อการตัดสินใจว่า จะเรียนต่อในมหาวิทยาลัยหรือไม่
สำหรับคนที่เพิ่งออกมาจากคุก การเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยผ่านทางออนไลน์อาจเป็นเรื่องยาก
Jed Tucker ผู้อำนวยการเเห่งโครงการช่วยผู้ต้องขังกลับคืนสู่สังคม ที่ดำเนินการในเรือนจำหลายเเห่งในรัฐนิวยอร์ก เสนอโอกาสเเก่ผู้ต้องขังในการเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย เเละจะได้รับปริญญาบัตรจากมหาวิทยาลัยในระหว่างการจองจำ
เขากล่าวว่า นักศึกษาของโครงการที่เรียนเก่งที่สุดที่เกือบจะเรียนจบในระดับปริญญาตรีเเล้ว ไม่เคยใช้อินเตอร์เน็ตเลย เเละไม่เคยต้องรับมือกับความเป็นราชการของสถาบันการศึกษา
Tucker กล่าวว่า มหาวิทยาลัยควรช่วยเหลือนักศึกษาเหล่านี้แก้ปัญหาการขาดประสบการณ์ที่จำเป็นเหล่านั้น เเต่บรรดามหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ มักไม่ค่อยรับนักศึกษาที่เคยจองจำในคดีอาญาเข้าเรียนต่อ เพราะกังวลในเรื่องความปลอดภัยภายในรั้วมหาวิทยาลัย
Judith Scott-Clayton รองศาสตราจารย์ด้านเศรษฐกิจเเละการศึกษาที่มหาวิทยาลัย Columbia กล่าวว่า นี่เป็นเรื่องของชื่อเสียงและเกียรติภูมิของมหาวิทยาลัยมากกว่าศีลธรรมจรรยา
ทางมหาวิทยาลัยไม่อยากเสี่ยงที่จะตกเป็นข่าว หรือเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องหากนักศึกษาที่มีประวัติอาชญากรรมอุกฉกรรจ์ที่รับเข้าเรียนต่อก่อปัญหาขึ้นภายในรั้วมหาวิทยาลัย
แต่รองศาสตราจารย์ Scott-Clayton เชื่อว่า การให้โอกาสคนที่เคยกระทำผิดเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย จะช่วยสร้างสังคมที่สงบสุขในอนาคต
มีการรณรงค์หลายโครงการเกิดขึ้น อาทิ Ban the Box (BTB) ที่ต้องการกำจัดคำถามเกี่ยวกับประวัติอาชญากรรมจากใบสมัครเข้าทำงานเ เละเอกสารขอเช่าบ้าน
ในขณะเดียวกัน การรณรงค์ที่เรียกว่า Beyond the Box ต้องการกำจัดคำถามเดียวกันนี้ในใบสมัครเรียนต่อในมหาวิทยาลัย เป้าหมายของการรณรงค์คือต้องการให้ผู้สมัครเข้าเรียนต่อที่มีประวัติทางอาชญากรรมผ่านการพิจารณาใบสมัครรอบเเรกได้ง่ายขึ้น
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)