นักวิเคราะห์: เอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ 'จุดบอด' ของการเเก้มลพิษทางอากาศ

FILE - Students walk along a street as they are released from school to return home earlier due to the haze in Jambi, Indonesia's Jambi province, Sept. 29, 2015, in this picture taken by Antara Foto.

Your browser doesn’t support HTML5

Asia Air Pollution

องค์การอนามัยโลก หรือ World Health Organization (WHO) เปิดเผยว่า ในปัจจุบันประชากรโลกร้อยละ 90 สูดอากาศมลพิษ โดยปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเขตเมืองในเอเชียมากกว่าส่วนอื่นๆของโลก

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ในเมืองใหญ่ ที่มีประชากร 10 ล้านคนอย่างกรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย แพทย์ต้องดูเเลผู้ป่วยจำนวนมากจากอาการ เเน่นหน้าอก ไอและหายใจไม่ออก ซึ่งเป็นอาการที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศที่เป็นพิษ

การเผาผลาญพลังงานฟอสซิล เป็นสาเหตุใหญ่ประการหนึ่งของมลพิษทางอากาศ ซึ่งทำให้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ประมาณ 7 ล้านคนต่อปี

ในส่วนอื่นๆของโลก การใช้ถ่านหินเป็นแหล่งพลังงาน ค่อยๆลดลง ราวหนึ่งในสาม หลังจากที่เเตะระดับสูงสุดเมื่อ 31 ปีก่อน

แต่สำหรับเอเชียความต้องการใช้ถ่านหิน เพิ่มขึ้น 3.5 เท่าในช่วงเวลาดังกล่าว

นักวิเคราะห์ นิโคส์ ทาโฟส์ แห่งหน่วยงาน Center for Strategic and International Studies หรือ CSIS ที่กรุงวอชิงตันกล่าวกับรอยเตอร์สว่าภูมิภาคนี้เผาผลาญเชื้อเพลิงมาผลิตไฟฟ้า ในการขับเคลื่อนกิจกรรมการเศรษฐกิจที่เติบโตรวดเร็ว

ในเดือนนี้ รายงานของ Greenpeace ร่วมกับ IQAirVisual ชี้ว่า ส่วนใหญ่ของเมืองที่มีปัญหามลพิษร้ายเเรงที่สุดอยู่ในเอเชีย โดยเมืองในอินเดียและจีนจำนวนมากติดอันดับต้นๆ

สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จาการ์ตาและฮานอย คือเมืองที่เผชิญปัญหามลพิษรุนแรงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นิโคส์ ทาโฟส์ กล่าวว่า หลังจากจีนถูกรุมเร้าด้วยปัญหามลพิษทางอากาศ ทางการลดการใช้ถ่านหิน และอินเดียเปิดตัวโครงการต้านปัญหามลพิษทั่วประเทศ

เเละเมื่อพิจารณาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นักวิเคราะห์ ทาโฟส์ แห่ง CSIS กล่าวว่า ภูมิภาคนี้ยังเป็น "จุดบอด" ของการรณรงค์เพื่อลดมลพิษทางอากาศ

FILE - Heavy equipment is seen loading coal onto a truck at PT Adaro Indonesia coal mining in Tabalong, Kalimantan island, Indonesia Oct. 17, 2017.

ในรายงานของรอยเตอร์ส ทาทา มัสทาสยา ตัวแทนของหน่วยงาน Greenpeace ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่าทิศทางของโลกสะท้อนถึงการเลี่ยงไม่ใช้ถ่านหิน แต่เอเชียอาคเนย์เดินสวนทางกับกระเเสดังกล่าว

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ใช้ถ่านหินร้อยละ 75 ของถ่านหินที่ผลิตได้ทั่วโลกเมื่อ 2 ปีก่อน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 50 เมื่อ 20 ปีที่แล้ว

นักวิเคราะห์กล่าวว่าทรัพยากรถ่านหินที่มีมากในภูมิภาคและราคาถูกประกอบกับความล้มเหลวในการผลักดันแหล่งเชื้อเพลิงทางเลือกเป็นเหตุผลหลักของการที่ภูมิภาคนี้เดินสวนทางกับกระเเสโลก

รายยัน ฮาสซาน ผู้อำนวยการบริหารจากองค์การเอ็นจีโอ Forum on ADB ในกรุงมะนิลากล่าวว่า ในฟิลิปปินส์เกิดเหตุการณ์ที่คนป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ เพราะมีโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหิน ตามรายงานของรอยเตอร์ส

อย่างไรก็ตาม ทางการของประเทศต่างๆอาจพบทางออกทั้งทางเทคนิคและทางนโยบาย

กล่าวคือ ญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างหนึ่งในเอเชีย ที่เร่งพัฒนาเทคโนโลยีสะอาดเพื่อการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน

นอกจากนี้ นิโคส์ ทาโฟส์ แห่ง CSIS กล่าวว่าการรณรงค์ในประเทศจีนเพื่ออากาศที่สะอาดขึ้นอาจเป็นพิมพ์เขียวให้กับประเทศอื่นๆได้ในการสร้างความตระหนักรู้ถึงผลจากการใช้พลังงานที่เป็นพิษต่อสิ่งเเวดล้อม

เขากล่าวว่า ความตื่นตัวเรื่องการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศอาจสร้างจุดเปลี่ยนแปลงเชิงบวกได้ เพราะประชาชนเป็นผู้รับผลกระทบและนักการเมืองก็จะต้องทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายไปได้