Your browser doesn’t support HTML5
VOA ภาคภาษาไทย พาไปเจาะลึกพฤติกรรมการช้อปปิ้งของชาวอเมริกัน พร้อมเปิดมุมมองธุรกิจ "Rent the Runway" ร้านเช่าสินค้าแบรนด์เนมรายเดือน ที่จะทำให้คุณดูดีมีสไตล์แบบสบายกระเป๋า
ในช่วงเกือบ 10 ปีนับจาก Great Depression ของสหรัฐฯ สร้างบทเรียนให้ชาวอเมริกันระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ข้อมูลจาก US Census Bureau ระบุว่า ยอดค้าปลีกเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทำสถิติสูงสุดในรอบ 2 ปี สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเริ่มกลับมา
ขณะที่ มูลค่าการซื้อเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย จากสำนักงานสถิติแห่งชาติสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ในปี 2016 ยอดการซื้อเสื้อผ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,803 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 61,302 บาทต่อครัวเรือนต่อปี
ไม่เพียงแต่ภาวะเศรษฐกิจที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อเสื้อผ้า พฤติกรรมการช้อปปิ้งออนไลน์ก็มีผลเช่นกัน ที่ธุรกิจเก่าเล่าใหม่อย่าง Subscription Box ที่เปิดให้ลูกค้าสมัครสมาชิกรายเดือน เพื่อจัดส่งสินค้าตัวอย่างหรือสินค้าที่จำหน่ายจริงไปให้ทุกเดือน เริ่มมีบทบาทสำคัญต่อการจับจ่ายสินค้าหลายประเภทของชาวอเมริกัน เช่น เครื่องสำอางค์ อาหาร
ส่วน Subscription Box ธุรกิจเครื่องแต่งกายในอเมริกา จะมาในรูปแบบของ “Cloth Box” ที่กำลังได้รับความนิยมในหมู่คนยุค Millennial และคนทำงานในอเมริกา ตอบโจทย์ผู้ที่ชอบซื้อเสื้อผ้าเครื่องประดับแต่ไม่รู้จะเก็บไว้ที่ไหน และผู้ที่ชอบเปลี่ยนสไตล์ไม่ซ้ำไม่จำเจ
ธุรกิจนี้จะเปิดให้ลูกค้านำเสื้อผ้าที่สนใจจะซื้อประมาณ 3-5 ชุดไปลองใส่ภายในเวลาที่กำหนด หากสนใจซื้อก็จ่ายในราคาที่ถูกกว่า แต่ถ้าไม่สนใจก็นำไปคืนได้ โดยมีค่าสมาชิกที่เรียกว่า Stylist fee เริ่มต้นที่ 19 ดอลลาร์ต่อเดือน และสูงสุดถึง 159 ดอลลาร์ต่อเดือน ตามแต่คุณภาพและการทำการตลาดของแต่ละธุรกิจ
ล่าสุด ธุรกิจให้เช่าเสื้อผ้าแบรนด์เนม หรือ Rental Fashion นำไอเดีย Cloth Box มาใช้ อย่างกรณีของ Rent the Runway เสนอแพจเกจค่าสมาชิก 89 ดอลลาร์สำหรับการเช่าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย รวมทั้งกระเป๋าแบรนด์เนม 1-4 ชิ้นต่อเดือน และไม่จำกัดชิ้นในราคา 159 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือน เพื่อขยายฐานลูกค้าที่สนใจ “เช่า” มากกว่าการ “ซื้อ” สินค้าแบรนด์เนมไฮเอนด์ เพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าที่อยากใช้สินค้าแบรนด์เนมในชีวิตประจำวัน
ผู้บริหาร Jennifer Hyman พบว่าเมื่อได้ปรับกลยุทธ์การตลาดด้วยค่าสมาชิกไม่ถึง 100 ดอลลาร์ต่อเดือนนั้น ทำให้มีลูกค้าเข้ามาเป็นสมาชิกเช่าชุดแบรนด์เนมเพิ่มขึ้น 125% ภายในปีเดียว และลูกค้ากลุ่มใหม่นี้เป็นผู้หญิงวัยทำงาน ที่มีรายได้ไม่ถึง 1 แสนดอลลาร์ต่อปี
Hyman เชื่อว่า ไอเดีย Closet in the Clouds หรือ การให้ลูกค้าได้ใช้สินค้าแบรนด์เนมผ่านตู้เสื้อผ้าออนไลน์นี้ คือ ไม้เด็ดในการต่อกรกับร้านค้าปลีกหลากหลายรูปแบบ ทั้งร้านรวมของแบรนด์เนมลดราคา อย่าง T.J. Maxx, Marshall, Nordstorm Racks แบรนด์แฟชั่นราคาย่อมเยาว์อย่าง Zara, H&M รวมทั้งยักษ์ใหญ่ด้านค้าปลีกและ E-commerce อย่าง Amazon, Target และ Walmart ที่พยายามแย่งลูกค้าด้วยสไตล์เสื้อผ้าที่คล้ายกันในราคาที่ถูกเหลือเชื่อ