‘จอห์น แคร์รี’ ฟื้นหารือโลกร้อนระหว่างเยือนปักกิ่ง

  • Associated Press

CHINA-USA/CLIMATE

จอห์น แคร์รี ทูตพิเศษด้านสภาพอากาศของประธานาธิบดีโจ ไบเดน หารือร่วมกับทูตพิเศษด้านสภาพอากาศของจีน ระหว่างที่รัฐบาลวอชิงตันเร่งหาทางฟื้นสัมพันธ์ที่บาดหมางกับรัฐบาลปักกิ่ง ทั้งประเด็นด้านการค้า ไต้หวัน สิทธิมนุษยชน และการอ้างสิทธิเหนือพื้นที่พิพาทของจีน

สำนักข่าวซินหัวของจีน รายงานว่าทูตพิเศษด้านสภาพอากาศของสหรัฐฯ พบกับทูตพิเศษด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของจีน เซีย เจินหัว (Xie Zhenhua) ในการหารือแบบตัวต่อตัวเป็นครั้งแรกของทูตพิเศษด้านสภาพอากาศของ 2 มหาอำนาจ หลังจากเว้นว่างไปเกือบ 1 ปีเต็ม

คาดกันว่า ทูตพิเศษแคร์รี จะผลักดันให้จีนลดการพึ่งพาการใช้ถ่านหินและตั้งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นตัวก่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศผิดธรรมชาติ ระหว่างที่สหรัฐฯ ยุโรป และจีน ประสบปัญหาสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นทำสถิติต่อเนื่อง

จีนในฐานะประเทศผู้ผลิตและใช้ถ่านหินมากที่สุดในโลก ได้เดินหน้าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ พร้อม ๆ กับเสาะหาพลังงานทางเลือกอย่างพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม

โดยจีนให้คำมั่นในการควบคุมเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ขึ้นถึงจุดสูงสุดในปี 2030 และเป็นประเทศที่มีฐานะเป็นกลางด้านก๊าซคาร์บอน หรือ carbon neutral ภายในปี 2060 แต่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเรียกร้องให้จีนตั้งเป้าหมายที่สูงกว่านั้นอีก

COP27 infographic

ก่อนหน้านี้ จีนตัดช่องทางการติดต่อของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของคณะทำงานไบเดน รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ดูแลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย เพื่อตอบโต้กรณีที่อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ส.ส.แนนซี เพโลซี เยือนไต้หวันเมื่อเดือนสิงหาคมปีก่อน และตามมาด้วยปมพิพาทจีนและสหรัฐฯ เกี่ยวกับบอลลูนสอดแนมที่เคลื่อนที่ไปทั่วสหรัฐฯ เมื่อต้นปีนี้

แคร์รี กล่าวกับคณะกรรมาธิการกิจการระหว่างประเทศสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ก่อนการเยือนกรุงปักกิ่งด้วยว่า เป้าหมายของคณะทำงานปธน.ไบเดน กับรัฐบาลปักกิ่งตอนนี้ คือการ “รักษาเสถียรภาพ(ด้านความสัมพันธ์)หากทำได้ โดยไม่ต้องสูญเสียอะไรเลย” และว่า สิ่งที่เรากำลังพยายามทำอยู่คือการหาหนทางที่สหรัฐฯและจีนจะสามารถร่วมมือในการแก้ไขวิกฤตด้านสภาพอากาศ และจีนมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหานี้

ด้านสำนักข่าวซินหัวออกรายงานเชิงวิเคราะห์ว่า ปฏิสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงสหรัฐฯ และจีนเป็น “สัญญาณที่ดีสำหรับการป้องกันการคำนวณผิดพลาดและขับเคลื่อนความสัมพันธ์ทวิภาคีให้กลับเข้าที่เข้าทาง”

ในทัศนะของหลี่ ชัว ที่ปรึกษาด้านนโยบายจากกลุ่มกรีนพีซ ฮ่องกง ที่เปิดเผยกับเอพี เห็นว่าการเยือนกรุงปักกิ่งของทูตพิเศษด้านสภาพอากาศของสหรัฐฯ เป็นจุดเปิดบทสนทนาระหว่าง 2 ชาติในการหารือทวิภาคีในหลายประเด็น และภาวะโลกร้อนเป็นประเด็นเร่งด่วนสำหรับโลกในการแก้ไขปัญหา

หลี่ เสริมว่า ที่ผ่านมาจีนพยายามแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศผิดธรรมชาติควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ และมีความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาคุณภาพอากาศของจีน ซึ่งความสำเร็จของจีนในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมถือเป็นแบบอย่างสำหรับประเทศอื่น ๆ ในโลก

ทั้งนี้ แคร์รีเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนที่ 3 ของคณะทำงานประธานาธิบดีไบเดน ที่เดินทางเยือนจีนเพื่อหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลปักกิ่ง ตามหลังรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน และรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ แจเน็ต เยลเลน

  • ที่มา: เอพี