เทคโนโลยีกล้อง ‘วิเคราะห์สีผิว’ จากจีน – ประเด็นกังวลหนักของนักสิทธิมนุษยชน

  • VOA

Visitors stand in front of a stall of the video surveillance product maker Dahua Technology at the Security China 2018 exhibition on public safety and security in Beijing, China Oct. 23, 2018.

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา IPVM ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยอุตสาหกรรมด้านการเฝ้าระวังและความมั่นคงของสหรัฐฯ เปิดเผยรายงานที่ระบุว่า บริษัท ต้าหัว (Dahua) ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ด้านการตรวจจับเฝ้าระวังของจีน ได้จำหน่ายอุปกรณ์กล้องที่ระบุว่า มีคุณลักษณะเด่นอันได้แก่ “ระบบวิเคราะห์สีผิว” ในตลาดยุโรป แต่ “บริษัท(แห่งนี้)ออกมาแก้ต่างว่า ระบบวิเคราะห์ที่ว่า เป็น “ฟีเจอร์ (feature) พื้นฐานของระบบด้านความปลอดภัยมั่นคงอัจฉริยะ”

ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการอ่านรายงานฉบับดังกล่าวต้องเสียค่าใช้ก่อนถึงจะเข้าอ่านได้ แต่ IPVM ส่งสำเนา 1 ฉบับให้แก่ วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลางเพื่อจัดทำข่าวนี้

รายงานของ IPVM ระบุว่า บทแนะแนว ICC Open Platform ของต้าหัวที่เกี่ยวกับ “ลักษณะเฉพาะทางร่างกายมนุษย์” รวมความถึง “สีผิว/ผิวพรรณ” ขณะที่ ฐานข้อมูลที่บริษัทแห่งนี้ระบุว่าเป็น “พจนานุกรรมข้อมูล” ให้รายละเอียดว่า คำว่า “ประเภทของสีผิว” ที่เครื่องมือวิเคราะห์ของต้าหัวพุ่งเป้าตรวจจับนั้นได้แก่ “สีเหลือง” และ “สีดำ” รวมทั้ง “สีขาว” โดยผู้สื่อข่าววีโอเอ ภาคภาษาจีนกลาง ได้ตรวจสอบรายละเอียดที่ว่านี้จากเว็บไซต์ภาษาจีนของต้าหัวและยืนยันว่า ข้อมูลในรายงานดังกล่าวนั้นถูกต้อง

IPVM ยังอธิบายด้วยว่า การตรวจจับสีผิวของเทคโนโลยีของต้าหัวนั้นถูกจัดให้อยู่ในหมวด “การควบคุมบุคลากร” ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่บริษัทโฆษณาว่า เป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ Smart Office Park สำหรับงานด้านการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่การทำงานที่มีขนาดใหญ่ของธุรกิจในจีน

ชาล์ส โรลเล็ต ผู้ร่วมจัดทำรายงานของ IPVM บอกกับ วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลาง ในระหว่างการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมว่า “โดยพื้นฐานแล้ว สิ่งที่ระบบวิเคราะห์วิดีโอนี้ทำก็คือ เมื่อเปิดกล้องใช้งาน กล้องก็จะพยายามวัดสีผิวของใครก็ตามที่เดินผ่าน หรือตรวจจับได้ในคลิปวิดีโอ” และว่า “นั่นก็หมายความว่า กล้องจะพยายามเดาหรือพยายามสรุปให้ได้ว่า คนที่อยู่หน้ากล้อง ... เป็นคนผิวสีดำ สีขาว หรือสีเหลือง ... หรือพูดอีกอย่างก็คือ ตรวจสอบสีผิวนั่นเอง”

วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลางลองติดต่อบริษัทต้าหัวเพื่อขอความเห็นแล้ว แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ

รายงานของ IPVM ระบุว่า ต้าหัวได้ขายกล้องที่มีระบบวิเคราะห์สีผิวใน 3 ประเทศในยุโรป อันได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งและเนเธอร์แลนด์ ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่มีปัญหาความตึงเครียดด้านสีผิวเมื่อเร็ว ๆ นี้ทั้งสิ้น

‘สีผิวคือฟีเจอร์พื้นฐาน’ ได้อย่างไร

บริษัทต้าหัวกล่าวว่า ความสามารถของอุปกรณ์ของตนในการวิเคราะห์โทนสีผิวนั้นเป็นฟีเจอร์สำคัญสำหรับเทคโนโลยีเฝ้าตรวจจับเฝ้าระวัง โดยระบุในคำแถลงที่ส่งให้ IPVM ว่า “แพลตฟอร์มที่พูดถึงอยู่นี้เป็นสิ่งที่สอดคล้องอย่างเต็มที่กับความมุ่งมั่นของเราที่ไม่ขอนำเสนอผลิตภัณฑ์ซึ่งพุ่งเป้าไปยังเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ หรือพลเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ความสามารถในการระบุลักษณะเฉพาะที่สามารถสังเกตเห็นได้ เช่น ความสูง น้ำหนัก สีผมหรือสีตา และกลุ่มสีผิวทั่ว ๆ ไป คือ ฟีเจอร์พื้นฐานของผลิตภัณฑ์ด้านความมั่นคงปลอดภัยอัจฉริยะ”

IPVM ชี้ว่า ระบบการตรวจจับสีผิวนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยปกตินักในกลุ่มผลิตภัณฑ์ไฮเทคกระแสหลักสำหรับการตรวจจับเฝ้าระวัง และก่อนหน้านี้ ต้าหัวเองก็เคยปฏิเสธข่าวที่ว่า บริษัทได้เสนอขายฟีเจอร์ดังกล่าวให้กับลูกค้าไปแล้ว

สำหรับหลายประเทศในซีกโลกตะวันตกนั้น ความผิดพลาดของการใช้เทคโนโลยีการจดจำใบหน้า (facial recognition) โดยการดูสีผิวเป็นประเด็นโต้เถียงในสังคมมานานแล้ว และการใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อจุดประสงค์ด้านการสอดส่องเฝ้าระวังก็ทำให้เกิดความกังวลด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเรือนอย่างมากด้วย

แอนนา บัชชาเรลลิ ผู้จัดการฝ่ายเทคโนโลยีขององค์กรฮิวแมน ไรท์ส วอทช์ (Human Rights Watch – HRW) บอกกับ วีโอเอ ว่า เทคโนโลยีของต้าหัวนั้นไม่ควรมีส่วนที่ทำการวิเคราะห์สีผิวเลย โดยระบุว่า “ทุกบริษัทนั้นมีหน้าที่รับผิดชอบในการให้ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชน และในการดำเนินตามขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อป้องกันหรือบรรเทาความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดขึ้นจากการกระทำของตน”

ถึงกระนั้น ต้าหัวก็ยังปฏิเสธและยืนยันว่า ผลิตภัณฑ์ตรวจจับเฝ้าระวังของตนไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้มีความสามารถจดจำเชื้อชาติ โดยข้อมูลบนเว็บไซต์สาขาสหรัฐฯ ของบริษัท กล่าวว่า “[ความจริงนั้น] ต่างจากข้อกล่าวหาของสื่อบางแห่งอย่างสิ้นเชิง [เพราะ] ต้าหัว เทคโนโลยีส์ ไม่เคยและจะไม่มีทางพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่พุ่งเป้าไปยังกลุ่มชาติพันธ์ใดโดยเฉพาะเป็นอันขาด”

แต่เมื่อย้อนไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2021 ทั้ง IPVM และหนังสือพิมพ์ ลอสแอนเจลิส ไทมส์ (Los Angeles Times) ต่างรายงานว่า บริษัทต้าหัวจัดหาระบบเฝ้าระวังด้วยวิดีโอที่มี “คำเตือนอุยกูร์แบบเรียลไทม์” ให้กับตำรวจจีน ซึ่งฟีเจอร์ที่ว่ามีความสามารถในการตรวจจับขนาดของคิ้ว สีผิวและชาติพันธุ์ด้วย

SEE ALSO: ลงดาบอีกครั้ง! สหรัฐฯ ออกมาตรการลงโทษจีน เหตุกดขี่ชาวอุยกูร์

รายงานเชิงสถิติปี 2018 ของ IPVM ยังระบุด้วยว่า เมื่อปี 2016 ต้าหัวและ ไฮค์วิชั่น (Hikvision) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการด้านระบบเฝ้าระวังด้วยวิดีโอสัญชาติจีนอีกแห่งได้ทำสัญญามูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์เพื่อทำงานให้กับรัฐบาลมณฑลซินเจียง ซึ่งเป็นพื้นที่อาศัยหลักของชาวอุยกูร์

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการด้านการสื่อสารของสหรัฐฯ (U.S. Federal Communications Commission – FCC) ออกข้อกำหนดในปี 2022 ที่ระบุว่า ผลิตภัณฑ์จากบริษัทเทคโนโลยีจีนทั้งหลาย อันรวมถึง ต้าหัวและไฮค์วิชั่น ซึ่งล้วนมีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลกรุงปักกิ่ง เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ และยังได้ออกคำสั่งห้ามจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัทเหล่านี้ในสหรัฐฯ “เพื่อใช้ในงานด้านความปลอดภัยสาธารณะ ความปลอดภัยมั่นคงในพื้นที่ของรัฐบาล เพื่อการสอดส่องดูแลความปลอดภัยทางกายภาพของโครงสร้างพื้นฐานสำคัญและจุดประสงค์อื่น ๆ ด้านความมั่นคงของชาติ” แต่เปิดช่องให้มีการจำหน่ายได้สำหรับจุดประสงค์อื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมา

แต่ก่อนที่ FCC จะออกคำสั่งห้ามจำหน่ายออกมา ยอดขายผลิตภัณฑ์ของทั้งไฮค์วิชั่นและต้าหัวนั้นอยู่ในอันดับหนึ่งและสองของยอดขายทั่วโลก ตามข้อมูลจากองค์กร The China Project ที่ตั้งอยู่ในนครนิวยอร์กและเชี่ยวชาญด้านจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับจีน

เทคโนโลยีจดจำใบหน้าและวิเคราะห์สีผิว กับโลกประชาธิปไตยเสรี

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา สหภาพยุโรป (อียู) มีมติอนุมัติรับร่งข้อเสนอกฎหมายว่าด้วยปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นกฎหมายตั้งต้นที่จะเปิดทางไปสู่การออกคำสั่งห้ามใช้ระบบจดจำใบหน้าในที่สาธารณะในประเทศสมาชิกทั้งหมดต่อไป

ก่อนหน้านี้ สเวนยา ฮาห์น ตัวแทนของเยอรมนีในกลุ่มงาน European Parliament and Renew Europe Group บอกกับสื่อ Politico ว่า ขณะที่ ทุกคนรู้จักระบบจดจำใบหน้าสำหรับงานเฝ้าระวังสังเกตการณ์เป็นวงกว้างที่มาจากจีนกันดีอยู่แล้ว “แต่เทคโนโลยีที่ว่านี้ไม่มีที่ยืนในโลกประชาธิปไตยเสรีเลย”

ในประเด็นนี้ แอนนา บัชชาเรลลิ ผู้จัดการฝ่ายเทคโนโลยีขององค์กรฮิวแมน ไรท์ส วอทช์ (Human Rights Watch – HRW) ระบุในอีเมลที่ส่งให้ วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลาง ว่า ตัวเธอ “สงสัยอย่างมากว่า เทคโนโลยีจดจำใบหน้าที่อ้างอิงเชื้อชาติ[จากจีน] จะเป็นเรื่องถูกกฎหมายภายใต้กฎหมายการปกป้องคุ้มครองข้อมูลและกฎหมายอื่น ๆ ของอียูได้หรือ” เพราะกฎหมายที่ชื่อ General Data Protection Regulation (GDPR) ของสหภาพยุโรปที่กำกับดูแลความเป็นส่วนตัวด้านข้อมูลมีเนื้อหาจำกัดการจัดเก็บและการประมวลข้อมูลส่วนตัวที่มีความอ่อนไหวอยู่ ดังนั้น หากบริษัทใดก็ตามที่ต้องทำการเช่นนั้น จะต้องมีการนำเสนอข้อมูลสนับสนุนที่เป็นไปตามกฎหมายให้ศาลอนุญาตก่อนจะดำเนินการใด ๆ ต่อไป

การจดจำเชื้อชาติ จุดประสงค์ทางธุรกิจและการเลือกปฏิบัติ

อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงนั้น บริษัทหลายแห่งในซีกโลกตะวันตกก็พยายามพัฒนาซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ที่จะมาช่วยบ่งชี้เชื้อชาติเพื่อนำข้อมูลไปใช้งานทางด้านการตลาดและสนับสนุนการขายสินค้าให้กับผู้บริโภคที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติอยู่บ้างแล้ว อย่างเช่น กรณีของบริษัทเครื่องสำอางค์เรฟลอน (Revlon) ที่หนังสือพิมพ์ เดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล (The Wall Street Journal) รายงานเมื่อปี 2020 ว่า ได้ใช้ซอฟต์แวร์จดจำใบหน้าจากบริษัทสตาร์ทอัพ ไครอส (Kairos) เพื่อวิเคราะห์ว่า ผู้บริโภคจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ใช้เครื่องสำอางค์แบบใด และเรื่องนี้ก็กลายมาเป็นประเด็นร้อนในกลุ่มนักวิจัยว่า การจดจำเชื้อชาติอาจนำไปสู่การเลือกปฏิบัติต่อเชื้อชาติต่าง ๆ ต่อไปได้

ในสหรัฐฯ นั้น รัฐบาลสั่งห้ามหมวดธุรกิจบางหมวด เช่น บริการสาธารณสุขและการธนาคาร ไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติต่อลูกค้า และบริษัทชั้นนำหลายแห่ง เช่น ไอบีเอ็ม (IBM) และกูเกิล (Google) รวมทั้งไมโครซอฟท์ (Microsoft) มีนโยบายจำกัดการให้บริการจดจำใบหน้าต่อหน่วยงานด้านบังคับใช้กฎหมายอยู่แล้ว

ในปัจจุบัน รัฐบาลใน 24 รัฐ เคาน์ตี้และเขตเทศบาลของสหรัฐฯ สั่งห้ามหน่วยงานของตนไม่ให้ใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าในงานด้านการเฝ้าระวังสังเกตการณ์ ส่วนนครนิวยอร์กซิตี้ เมืองบัลติมอร์ และเมืองพอร์ตแลนด์ของรัฐโอเรกอน ห้ามไม่ให้ภาคธุรกิจใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าวเช่นกัน

ความกังวล?

นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมืองบางรายเชื่อว่า เทคโนโลยีจดจำใบหน้านั้นมีโอกาสประมวลข้อมูลผิดพลาดได้ ซึ่งอาจส่งผลเสียรุนแรงต่อผู้ที่ถูกจับตาเฝ้าระวังด้วย โดย ชาล์ส โรลเล็ต ผู้ร่วมจัดทำรายงานของ IPVM ยกตัวอย่างว่า “ถ้ากล้องนั้นทำงานในเวลากลางคืน หรือเป็นพื้นที่ที่มีแสงเงา ระบบก็อาจจัดหมวดหมู่คนในภาพผิดพลาดได้”

ส่วน เคทลิน ชิน นักวิจัยจาก Center for Strategic and International Studies ในกรุงวอชิงตัน ซึ่งค้นคว้าเรื่องของกฎเกณฑ์ด้านเทคโนโลยีในสหรัฐฯ และหลายประเทศ ให้ความเห็นว่า ขณะที่ บริษัทเทคโนโลยีในตะวันตกมักใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจเป็นหลัก บริษัทในจีนมักยินดีที่จะใช้ผลิตภัณฑ์ของตนเองช่วยงานหน่วยงานรัฐบาลในการสอดส่องดูประชาชน

ชิน ระบุในการให้สัมภาษณ์ทางวิดีโอคอลล์กับ วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลาง เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมว่า ประเด็นดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ทั้งลดทอนความเป็นมนุษย์อย่างมากและเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจอย่างสูงจากมุมมองด้านสิทธิมนุษยชน เพราะหากเกิดความผิดพลาดขึ้นมา ก็อาจเกิดการจับกุมตัวผู้ต้องหาผิดคน หรือทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อผู้คนได้

นักวิจัยรายนี้กล่าวทิ้งท้ายว่า โดยทั่วไปแล้ว เมื่อพิจารณาการบังคับใช้กฎหมายและการสอดส่องดูแลของภาครัฐ ผู้คนที่มีสีผิวเข้มมักถูกติดตามและจับตาดูในสัดส่วนที่มากกว่าคนกลุ่มอื่นอยู่แล้ว “ดังนั้น กล้องของต้าหัวก็จะยิ่งทำให้คนเรายิ่งทำการเช่นนั้นได้ง่ายขึ้น ด้วยการช่วยคัดแยกคนตามสีผิวให้นั่นเอง”

  • ที่มา: วีโอเอ