Your browser doesn’t support HTML5
หลังจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีคำสั่งเมื่อเดือนพฤษภาคม ให้หน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐฯ สรุปรายงานภายในสามเดือนว่า ไวรัสโควิด-19 อาจถูกสร้างขึ้นและหลุดออกจากห้องปฏิบัติการทดลองของจีนที่เมืองอู่ฮั่นหรือไม่นั้น
ขณะนี้กำลังมีนักวิทยาศาสตร์หลายคนที่เรียกร้องให้ตรวจสอบบทบาทของวารสารวิทยาศาสตร์และการแพทย์ที่มีชื่อเสียงของกลุ่มประเทศตะวันตก เช่น Nature และ The Lancet ว่ามีบทบาทปิดกั้นการอภิปรายถกเถียงเพื่อช่วยค้นหาความจริงเกี่ยวกับที่มาของไวรัสในช่วงต้นของการระบาดเพื่อเอาใจรัฐบาลจีนหรือไม่
โดยนักวิทยาศาสตร์ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับทฤษฎีที่ว่าเชื้อโควิด-19 เกิดขึ้นเองในธรรมชาติ และกระโดดข้ามสายพันธุ์จากค้างคาวสู่คนจริงหรือไม่นั้น กำลังเรียกร้องให้มีการตรวจสอบบทบาทของวารสารวิทยาศาสตร์และการแพทย์ชั้นนำของกลุ่มประเทศตะวันตกบางฉบับ เช่น Nature, The Lancet รวมถึงวารสาร Science ของสหรัฐฯ ว่ามีส่วนปิดกั้นการนำเสนอบทความเพื่อการอภิปรายถกเถียงทางวิชาการที่จะท้าทายทฤษฎีซึ่งมีมาตั้งแต่เริ่มแรก ด้วยเหตุผลสำคัญคือเพื่อเอาใจรัฐบาลจีนหรือไม่ และอย่างใด
นักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งในกลุ่มที่ตั้งคำถามนี้ คืออาจารย์นิโคไล เพรตรอฟสกี้ ผู้สอนวิชาแพทย์ที่มหาวิทยาลัย Flinders University ในออสเตรเลีย ที่บอกว่า บรรณาธิการและผู้บริหารของวารสารวิชาการที่มีชื่อเสียงดังกล่าว ได้บอกปัดและปิดกั้นการนำเสนอบทความทางวิชาการอื่น ๆ ซึ่งตั้งคำถามและโต้แย้งทฤษฎีที่ว่าเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ก่อตัวขึ้นเองตามธรรมชาติ
และเป็นผลให้สื่อมวลชนต่าง ๆ ได้รับอิทธิพลจากทฤษฎีเรื่องการกระโดดข้ามสายพันธุ์ในช่วงแรก โดยไม่ได้มีการตรวจสอบและให้ความสนใจกับทฤษฎีเรื่องเชื้อที่ถูกสร้างขึ้นและหนีเล็ดลอดออกจากห้องปฏิบัติการทดลองที่เมืองอู่ฮั่นเท่าที่ควร
โดยอาจารย์นิโคไล เพรตรอฟสกี้ ยังเสริมด้วยว่า ผู้บริหารของบริษัทซึ่งเป็นเจ้าของวารสารวิชาการเหล่านี้อาจต้องการเอาใจพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพราะจีนเป็นตลาดใหญ่สำหรับรายได้ของตน และรัฐบาลจีนก็ได้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าวารสารทางวิชาการต่าง ๆ จะต้องปฏิบัติตามแนวนโยบายของตนด้วย
ส่วนอาจารย์ริชาร์ด อีไบรท์ ผู้สอนวิชาชีวเคมี ที่มหาวิทยาลัย Rutgers ของสหรัฐฯ ก็เป็นอีกคนหนึ่งซึ่งตั้งคำถามเกี่ยวกับบทบาทของวารสารวิชาการที่มีชื่อเหล่านี้ โดยเขาตั้งข้อสังเกตว่า บทความทางวิชาการชิ้นใดที่สนับสนุนทฤษฎีเรื่องเชื้อที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจะได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่อย่างรวดเร็ว แม้จะยังไม่ได้รับการทบทวนจากนักวิชาการคนอื่น หรือที่เรียกว่า peer review ซึ่งข้อมูลในลักษณะดังกล่าวนี้ได้เข้ามาครอบงำแนวคิดรวมทั้งการนำเสนอของสื่อต่าง ๆ โดยทั่วไป ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่แล้วเป็นต้นมา
อย่างไรก็ตาม บรรณาธิการของวารสาร The Lancet และ Nature ได้บอกปัดข้อกล่าวหานี้ โดยชี้ว่า ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดการเลือกตีพิมพ์บทความไม่ใช่ข้อพิจารณาทางการเมือง และคุณแมคดาลีนา สคิปเปอร์ หัวหน้ากองบรรณาธิการของวารสาร Nature ก็ยืนยันว่า วารสารของเธอนั้นไม่เคยปฏิเสธบทความชิ้นใดด้วยเหตุผลที่ว่าทฤษฎีหรือข้อโต้แย้งที่นำเสนอนั้นขัดกับความเชื่อดั้งเดิมที่มีอยู่แต่อย่างใด
ในช่วงต้นปีนี้ คณะทำงานขององค์การอนามัยโลกซึ่งเข้าไปตรวจสอบต้นตอของเชื้อโควิด-19 ในประเทศจีน มีความเห็นว่า เชื้อโควิด-19 ไม่ได้หลุดออกจากห้องปฏิบัติการในเมืองอู่ฮั่นแต่น่าจะมาจากตลาดค้าสัตว์ป่าของเมืองมากกว่า อย่างไรก็ตาม รัฐบาลและนักวิทยาศาสตร์ของประเทศตะวันตกหลายคนได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับข้อสรุปขององค์การอนามัยโลกด้วยเหตุผลที่ว่า รัฐบาลจีนได้ปิดกั้นการเข้าถึงและควบคุมการทำงานของทีมงานจากองค์การอนามัยโลกในช่วงเวลาสี่สัปดาห์ของการตรวจสอบ ทำให้ข้อสรุปที่ได้นี้ขาดความน่าเชื่อถือเท่าที่ควร
เกี่ยวกับเรื่องนี้ อาจารย์นิโคไล เพรตรอฟสกี้ ของมหาวิทยาลัย Flinders University ให้ความเห็นว่า โรคระบาดใหญ่ครั้งนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนและความเปราะบางที่สถาบันทางวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย นักวิชาการ และสื่อต่าง ๆ มีอยู่ต่อแรงกดดันทางการเมืองและอิทธิพลในรูปแบบอื่น ๆ
ถึงแม้ว่า คุณแมคดาลีนา สคิปเปอร์ หัวหน้ากองบรรณาธิการของวารสาร Nature จะยืนยันว่า กระบวนการตัดสินใจเกี่ยวกับเนื้อหาที่นำออกเผยแพร่นั้นถูกแยกออกจากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยสิ้นเชิง
ขณะนี้วารสาร Nature เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ทางวิชาการหนึ่งในบรรดาวารสารราว 3,000 ฉบับของบริษัท Springer Nature กลุ่มบริษัทระดับโลกที่ธุรกิจในเยอรมนีและอังกฤษร่วมเป็นเจ้าของอยู่ และบริษัทนี้ก็มีข้อตกลงกับความร่วมมือหลายด้านกับสถาบันต่าง ๆ ในประเทศจีนด้วย ส่วน Lancet นั้นเป็นของ Elsevier บริษัทสื่อสิ่งพิมพ์สัญชาติเนเธอร์แลนด์