บริษัท สยามกลการ ผู้ประกอบรถยนต์ญี่ปุ่นในไทย เปิดเผยว่า ตนกำลังเจรจาร่วมทำธุรกิจกับหุ้นส่วนที่เป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) สัญชาติจีนหลายราย ตามรายงานของรอยเตอร์ในวันจันทร์
รอยเตอร์รายงานข้อมูลจากเซบาสเตียน เดอพิว (Sebastien Dupuy) รองประธานบริษัทสยามกลการ ที่ระบุว่า มีการพูดคุยกับผู้ผลิตรถยนต์จากจีนหลายราย โดยเฉพาะกับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่เจาะกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง
เดอพิวกล่าวกับรอยเตอร์ว่า เขาเห็น “ตลาดที่กำลังเติบโต… และเราต้องการที่จะใช้โอกาสนี้ในการเติบโต” ของกิจการ
ความร่วมมือที่อาจเกิดขึ้นสะท้อนถึงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการผลิตยานพาหนะในไทยที่อุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปจากญี่ปุ่นครองตลาดมาอย่างยาวนาน
บริษัท สยามกลการ จำกัด หรือชื่อภาษาอังกฤษคือ Siam Motors เป็นหุ้นส่วนกับบริษัทนิสสัน มอเตอร์ ตั้งแต่ปี 1962 เพื่อตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ในเมืองไทย โดยหุ้นส่วนดังกล่าวทำให้สยามกลการประสบความสำเร็จจนปัจจุบันมีรายได้ต่อปีล่าสุดถึง 7 พันล้านดอลลาร์ต่อปี
SEE ALSO: ไทยเนื้อหอม! ค่ายรถจีน ‘จีลี’ คุยลงทุนตลาดรถยนต์ไฟฟ้า
ท่าทีของสยามกลการสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในไทย ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีตลาดซื้อขายใหญ่เป็นอันดับสองในภูมิภาครองจากอินโดนีเซีย โดยที่ผ่านมาบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นเป็นผู้ครองตลาดมาหลายทศวรรษ
นับตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา ไทยได้รับการลงทุนจากจีนสูงถึง 1,440 ล้านดอลลาร์ และหนึ่งในผู้นำเงินมาลงทุนนั้นมีบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าจากจีนอย่าง BYD และเกรท วอลล์ มอเตอร์ร่วมอยู่ด้วย
รอยเตอร์รายงานด้วยว่า คลื่นการรุกคืบของจีนในอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยเริ่มที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงแล้ว โดยผู้ผลิตรถอีวีจากจีนเริ่มพูดคุยเพื่อแสวงหาความเป็นหุ้นส่วนจากบริษัทในพื้นที่ ซึ่งรวมถึงบริษัทที่มีสายสัมพันธ์กับผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่นอย่างยาวนานด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น บริษัทจีนยังพยายามเข้าไปในตลาดของยุโรป ที่ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้ามีจำนวนเกือบ 1 ใน 5 ของยอดขายทั้งหมด อันสะท้อนถึงความพยายามในการกระตุ้นการส่งออกและการสร้างฐานการผลิตใหม่ของจีน
SEE ALSO: 'เกรต วอลล์ มอเตอร์' ของจีนมีแผนลงทุนในไทยมูลค่าระดับพันล้านบาท
ข้อมูลการจดทะเบียนรถยนต์ในไทยเมื่อปีที่แล้ว พบว่า มีรถไฟฟ้าเพียง 1% จากจำนวนรถยนต์จดทะเบียน 850,000 คัน แต่ในช่วงเดือน ม.ค. - เม.ย. 2023 สัดส่วนของรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 6% โดยมี BYD เป็นผู้นำในตลาดนี้ ตามมาด้วย Hozon จากจีน และ Tesla จากสหรัฐฯ
ภายในปี 2030 รัฐบาลไทยตั้งเป้าว่าจะเปลี่ยนกำลังการผลิตรถยนต์ 30% ให้เป็นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อที่จะเป็นผู้ผลิตรายหลักในภูมิภาค ซึ่งแผนดังกล่าวตามมาด้วยการแสวงหาการลงทุนอย่างหนัก โดยใช้จุดเด่นด้านฐานการผลิตที่มีอยู่เดิม และแรงจูงใจด้านภาษี
ณรงค์ สีตลายน กรรมการผู้จัดการ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ระบุว่า บริษัทได้เลือกประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรง และความพร้อมด้านการผลิตและบุคลากร รวมถึงศักยภาพด้านการเติบโต รวมทั้งยังเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อ
- ที่มา: รอยเตอร์