Your browser doesn’t support HTML5
รัฐบาลจีนเพิ่มมาตรการคุมเข้มทางอินเทอร์เน็ตยิ่งขึ้น ด้วยการออกกฎหมายควบคุม Virtual Private Networks (VPN) หรือ “เครือข่ายส่วนตัวเสมือน” ที่ไม่ได้รับอนุญาต
แต่นักวิเคราะห์ชี้ว่า มาตรการล่าสุดของรัฐบาลจีนอาจนำไปสู่ปัญหาสมองไหลออกนอกประเทศได้
Virtual Private Networks (VPN) หรือ “เครือข่ายส่วนตัวเสมือน” คือบริการที่ช่วยให้ชาวจีนสามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้โดยไม่ต้องการผ่านสิ่งที่เรียกว่า Great Firewall หรือมาตรการปิดกั้นทางอินเทอร์เน็ตที่รัฐบาลจีนนำมาใช้กลั่นกรองเนื้อหาและสกัดกั้นเว็บไซต์ต่างประเทศ เช่น Google Twitter และเว็บไซต์สื่อต่างชาติ รวมทั้ง VOA
โดยรายงานของ Greatfire.org ซึ่งต่อต้านการปิดกั้นเสรีภาพสื่อในประเทศจีน ชี้ว่า ในบรรดาเว็บไซต์ยอดนิยมที่สุดในโลก 1,000 เว็บไซต์ ถูกรัฐบาลจีนปิดกั้นถึง 135 เว็บไซต์
แต่เวลานี้ดูเหมือนเครือข่าย VPN บางเครือข่ายไม่สามารถใช้งานได้ และบางรายถูกปิดอย่างถาวร
หลังจากกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศจีน ประกาศเมื่อต้นปีนี้ว่าจะมีการปราบปรามเครือข่าย VPN ผิดกฎหมาย มีรายงานหลายชิ้นที่ระบุว่าทางการจีนได้สั่งให้บริษัทผู้ให้บริการด้านการสื่อสารรายใหญ่ๆ ทั่วประเทศจีน ปิดเครือข่าย VPN ต่างๆ ที่ไม่ได้รับอนุญาต
แต่เมื่อสองสัปดาห์ก่อน รัฐบาลจีนได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่เคยมีการกระทำเช่นนั้น พร้อมกล่าวหาสื่อต่างประเทศว่ารายงานเรื่องนี้โดยไม่มีมูลความจริง
มาตรการคุมเข้มล่าสุดของรัฐบาลจีนได้ก่อให้เกิดความกังวลและการวิพากษ์ตำหนิอย่างรุนแรงในหมู่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต และชาวจีนในต่างประเทศ รวมทั้งนักวิชาการและนักวิจัยของจีน ที่เกรงว่าความสามารถในการทำงานและการแข่งขันอาจลดลงหากจีนตัดตัวเองออกจากโลกภายนอก
ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนพยายามสนับสนุนแนวคิด “อธิปไตยบนโลกไซเบอร์ส” เพื่อควบคุมอำนาจอธิปไตยเหนือขอบเขตทางอินเทอร์เน็ตของตัวเอง
คุณ Michael Qiao อดีตศาสตราจารย์ด้านวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัย Beijing Foreign Studies กล่าวว่า แนวโน้มการควบคุมอินเทอร์เน็ตอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้นในระยะยาวของรัฐบาลจีน ถือเป็นการละเมิดสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐาน
นักวิชาการผู้นี้ระบุด้วยว่า มาตรการปิดกั้นทางอินเทอร์เน็ตต่างๆ นั้น มีเป้าหมายเพื่อรวมอำนาจการปกครองไว้ที่บรรดาผู้นำจีน ลดแรงต้านและแรงเสียดทานทางการเมือง แต่ก็อาจนำความเสี่ยงที่จะทำให้เปิดปัญหาสมองไหลออกนอกประเทศ ซึ่งถือเป็นผลร้ายต่อการพัฒนาเทคโนโลยีและการสร้างสรรค์นวัตกรรมของจีนเอง
เมื่อไม่นานนี้ องค์กรสนับสนุนด้านสิทธิมนุษยชน Freedom House เรียกจีนว่าเป็น “ผู้ละเมิดเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตอันดับหนึ่งของโลก” ขณะที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวจีนจำนวนมากเปรียบเทียบมาตรการปิดกั้นทางอินเทอร์เน็ตของจีนว่าไม่ต่างจากรัสเซีย ที่เพิ่งผ่านร่างกฎหมายควบคุมเครือข่าย VPN ไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเช่นกัน
(ผู้สื่อข่าว Joyce Huang รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)