ลิ้งค์เชื่อมต่อ

'อาชญากรรมไซเบอร์ส' ภัยคุกคามใหม่ของประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิก


please wait

No media source currently available

0:00 0:04:17 0:00

ประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิกกำลังเผชิญภัยคุกคามจากอาชญากรรมในโลกไซเบอร์ส ที่กำลังสั่นคลอนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของหลายประเทศในภูมิภาคนี้

ขณะที่บรรดาผู้นำภาคธุรกิจและเจ้าหน้าที่รัฐบาลในเอเชีย ต่างต้องการให้มีการปรับปรุงนโยบายเพื่อให้สามารถรับมือการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของการโจมตีทางไซเบอร์ส

สิงคโปร์ถือเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำของอาเซียน ในด้านการป้องกันภัยคุกคามจากการโจมตีหรือลอบเจาะล้วงข้อมูลทางไซเบอร์ส โดยเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว สิงคโปร์ได้เป็นเจ้าภาพการประชุมระดับรัฐมนตรีของอาเซียน ที่มีวาระสำคัญเรื่องการพัฒนาศักยภาพของอาเซียนในการรับมืออาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ต

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์ หรือ EDB ได้จับมือกับบริษัทเทคโนโลยี Honeywell ของสหรัฐฯ เพื่อจัดตั้งศูนย์ความปลอดภัยทางไซเบอร์สแห่งใหม่ประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ซึ่งจะมีทั้งห้องปฏิบัติการและการฝึกอบรมพิเศษในด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ส

ในเดือนมิถุนายน สิงคโปร์และออสเตรเลียได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือป้องกันอาชญากรรมทางไซเบอร์ส โดยออสเตรเลียตกลงจะร่วมมือกับจีนและไทยในด้านนี้ด้วย

Tobias Freakin ผู้แทนด้านอาชญากรรมไซเบอร์สของออสเตรเลีย ได้เจรจากับเจ้าหน้าที่ไทยเมื่อเร็วๆ นี้ โดยได้กล่าวว่าความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ ในเอเชีย คือสิ่งสำคัญในการรับมือกับเครือข่ายอาชญากรรมไซเบอร์สที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วในเอเชีย

คุณ Freakin ระบุว่า เวลานี้อาชญากรและคนร้ายสามารถประยุกต์ใช้ข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตได้รวดเร็วกว่ารัฐบาล ดังนั้นหากประเทศต่างๆ พากันนิ่งเฉย และยังขาดความร่วมมือ ในที่สุดก็จะถูกกลุ่มอาชญากรไซเบอร์สเหล่านี้แซงหน้าไปไกล

รายงานของสำนักงานควบคุมยาเสพติดและอาชญากรรมของสหประชาชาติ หรือ UNODC เตือนว่า อาชญากรรมทางไซเบอร์สกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในเอเชีย และได้กลายไปเป็นเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติขนาดใหญ่ในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึง การลอบขโมยข้อมูลส่วนบุคคล การโจมตีด้วยไวรัสหรืออีเมล์ล่อลวง ตลอดจนการฉ้อโกงต่างๆ ผ่านทางเว็บไซต์ สื่อสังคมออนไลน์ หรือแอพในโทรศัพท์มือถือ

เหตุการณ์การโจมตีทางไซเบอร์สครั้งใหญ่หลายต่อหลายครั้งในช่วงหลังๆ ได้ทำให้หลายประเทศในเอเชียหันมาใส่ใจกับปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์สมากขึ้น รวมทั้งกรณีล่าสุดเมื่อเดือน พ.ค. ที่มีการปล่อยมัลแวร์เรียกค่าไถ่ WannaCry ออกมาโจมตีเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขององค์กรต่างๆ มากกว่า 200,000 เครื่อง ใน 150 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย

บริษัทตรวจสอบภัยคุกคามทางไซเบอร์ส Trend Micro รายงานว่า การโจมตีทางไซเบอร์สได้ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจในเอเชียเป็นมูลค่าหลายล้านดอลลาร์

ส่วนที่ฟิลิปปินส์ นักวิเคราะห์ด้านความปลอดภัยกล่าวว่าภาคธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้องเพิ่มมาตรการในการรักษาความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ตมากขึ้น

คุณ Alexandru Caciuloiu นักวิเคราะห์ด้านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของ UNODC ชี้ว่า ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการแก้ไขจัดการปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์สให้ได้

คุณ Caciuloiu ชี้ว่า บางประเทศในภูมิภาคนี้ได้มีความคืบหน้าไปมากในการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ส แต่ก็มีอีกหลายประเทศที่ยังล้าหลังอยู่มากเช่นกัน

ขณะที่รายงานสำรวจด้านความมั่นคงปลอดภัยของบริษัทที่ปรึกษา PriceWaterhouseCoopers (PwC) เรียกร้องให้มีการเพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อรับมือกับเครือข่ายอาชญากรรมดังกล่าว ซึ่งกำลังแพร่กระจายไปทั่วโลกพร้อมกับอุปกรณ์สมัยใหม่ เช่น โทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต รวมทั้งเทคโนโลยีที่เรียกว่า Internet of Things หรืออุปกรณ์ต่างๆ รอบตัวเราที่สามารถเชื่อมกับอินเทอร์เน็ตได้เช่นกัน

(ผู้สื่อข่าว Rom Corben รายงานจากกรุงเทพฯ / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)

XS
SM
MD
LG