ร่างกฏหมายใหม่ของจีนอาจทำให้ NGO ต่างชาติแห่กันออกจากประเทศ

This undated photo at an undisclosed location provided to AFP by the 'Chinese Urgent Action Working Group' shows Swedish human rights activist Peter Dahlin.

ทางการจีนกำลังร่างกฏหมายฉบับใหม่เพื่อควบคุมการทำงานของหน่วยงานพัฒนาเอกชนต่างชาติอย่างเข้มงวด

Your browser doesn’t support HTML5

ร่างกฏหมายใหม่ของจีนอาจทำให้ NGO ต่างชาติแห่กันออกจากประเทศ

ผลกระทบจากร่างกฏหมายควบคุมหน่วยงานพัฒนาเอกชนต่างชาติของรัฐบาลจีน เริ่มส่งผลกระทบเเล้ว

ล่าสุด ActionAid หน่วยงานพัฒนาเอกชนต่างชาติรายใหญ่ ได้เริ่มลดการดำเนินงานต่างๆ ในจีนลงมาอย่างมากจนเกือบหมด ในขณะที่ NGOs ตะวันตกอีกหลายแห่งกำลังวางแผนที่จะถอนตัวออกจากจีนเช่นกัน และการจับกุมและกักขังตัวนาย Peter Dahlin เจ้าหน้าที่พัฒนาเอกชนชาวสวีเดนเมื่อไม่นานมานี้ ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง

คุณ Kristin Shi-Kupfer ผู้อำนวยการแห่งฝ่ายวิจัยด้านการเมือง สังคมและสื่อมวลชน ที่สถาบัน Mercator Institute for China Studies หรือ MERICS ในกรุงเบอร์ลิน กล่าวว่าร่างกฏหมายใหม่ของทางการจีนชี้ให้เห็นว่า การจัดการกับหน่วยงาน NGOs ต่างชาติเป็นเรื่องของความมั่นคงแห่งชาติ จึงมีความสำคัญอันดับหนึ่ง

และการจับกุมและกักขังเจ้าหน้าที่พัฒนาเอกชนชาวสวีเดนครั้งนี้ก็เป็นการย้ำจุดยืนของทางการจีนในเรื่องนี้

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ทางการจีนมักเเสดงความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นว่า รัฐบาลตะวันตกพยายามเเทรกซึมสังคมจีนผ่านหน่วยงานพัฒนาเอกชนต่างชาติ และเผยแพร่แนวคิดประชาธิปไตยตามแบบฉบับของตะวันตก

นาย Peter Dahlin เจ้าหน้าที่พัฒนาเอกชนชาวสวีเดน ถูกนำตัวไปเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ที่ควบคุมโดยทางการจีน โดยทางการจีนกล่าวหาว่าเขาได้สารภาพว่าได้ละเมิดต่อกฏหมายและใช้เงินทุนจากต่างประเทศ ในการกระตุ้นให้เกิดการเผชิญหน้าและความขัดแย้งในสังคมจีน ด้านเเหล่งข่าวชาวตะวันตกหลายแหล่งต่างชี้ว่า ผู้ต้องหาถูกบังคับให้สารภาพต่อข้อหา

ในร่างกฏหมายใหม่ฉบับนี้ หน่วยงานพัฒนาเอกชนต่างชาติทั้งหมดจะต้องลงทะเบียนกับหน่วยงานความมั่นคงของจีน ซึ่งจะเป็นผู้ควบคุมดูแลกิจกรรมของหน่วยงาน NGOs ต่างชาติเหล่านี้

กฏหมายฉบับนี้มีมาตราเฉพาะที่ออกมาเป็นการพิเศษ เพื่อจัดการกับสิ่งที่รัฐบาลจีนเรียกว่าเป็นการบั่นทอนความมั่นคงแห่งชาติโดย NGOs ต่างชาติ และละเมิดต่อศีลธรรมจรรยาและวิถีปฏิบัติของจีน

คุณ Shi-Kupfer กล่าวว่าข้อจำกัดความเเบบนี้ ทำให้มีการตีความทางการเมืองได้กว้างมากซึ่งมีผลให้มีการสั่งห้ามการทำงานหลายๆ อย่างของ NGOs ต่างชาติตามมา หรืออาจจะนำไปสู่การลงโทษต่อไป

ร่างกฏหมายใหม่นี้ยังมีข้อกำหนดที่ควบคุมกิจกรรมต่างๆ ของ NGOs ต่างชาติ ที่กำลังระดมทุนจากคนท้องถิ่นในจีน กฏหมายมาตรานี้นี้มุ่งกดดันไม่ให้ NGOs ต่างชาติระดมทุนภายในจีนเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนใหม่ หลังจากการระดมทุนในต่างชาติมีอุปสรรคมากขึ้น

คุณ Robert Lawrence Kuhn ผู้เขียนหนังสือสองเล่มเกี่ยวกับรัฐบาลจีนกล่าวว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่ต้องการให้เกิดปัญหาใดๆ และไม่ต้องการให้มีการเผยแพร่แนวคิดเเบบตะวันตกในประเทศ ในช่วงที่จีนกำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงที่มาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่และการแปรเปลี่ยนทางสังคม

เขากล่าวว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนรู้สึกว่าหน่วยงาน NGOs ตะวันตกมีบทบาทสำคัญในการล่มสลายของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ต่างๆ ในประเทศทางยุโรปตะวันออก แม้ว่าจะมีเหตุผลอื่นๆ ร่วมด้วยก็ตาม เขาชี้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องการถือไพ่ที่เหนือกว่าในการรับมือกับหน่วยงาน NGOs ตะวันตกเหล่านี้ ในห้วงที่ประเทศกำลังเข้าสู่ช่วงการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

ด้านคุณ Scott Kennedy ผู้อำนวยการแห่งโครงการเกี่ยวกับธุรกิจและเศรษฐกิจการเมืองจีนที่ศูนย์ Center for Strategic and International Studies ในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่าทางการจีนเชื่อว่าหน่วยงาน NGOs ต่างชาติมีส่วนในการก่อให้เกิดการปฏิวัติสี หรือ color revolutions และจีนไม่ต้องการประสบกับชะตากรรมเดียวกันกับรัฐบาลในประเทศคอมมิวนิสต์ต่างๆ ที่ถูกโค่นอำนาจไปแล้ว

แต่บรรดานักวิเคราะห์หลายคนชี้ว่า ร่างกฏหมายฉบับนี้กำลังเจอกับแรงต่อต้านแบบไม่รุนแรงนักจากหลายๆ คนในพรรคคอมมิวนิสต์จีนเอง ที่ชี้ว่าหน่วยงาน NGOs ต่างๆชาติก็ได้สร้างความก้าวหน้าสำคัญๆ แก่จีน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการดูแลเด็กที่พิการ และในด้านการลดความยากจนในเขตชนบทห่างไกลกับพื้นที่ส่วนต่างๆ ของประเทศที่ถูกละเลย

เจ้าหน้าที่ทางการจีนบางคนยังได้แสดงความกังวลด้วยว่า งานดูแลควบคุมหน่วยงานพัฒนาเอกชนต่างชาติ อาจจะมากเกินพอดี จนทำให้หน่วยงาน NGOs ต่างๆ ชาติที่มีประวัติดีพากันถอนตัวออกจากจีน

คุณ Kennedy กล่าวว่าหากไม่มีการปรับเปลี่ยนร่างกฏหมายฉบับนี้ในวงกว้าง เขาเชื่อว่าร่างกฏหมายนี้จะนำไปสู่จุดจบของการทำงานของหน่วยงานพัฒนาเอกชนต่างชาติในจีน และจะส่งผลกระทบทางลบอย่างร้ายแรงต่อสังคมจีนตามมา

(เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)