ยานอวกาศเสินโจว-12 (Shenzhou-12) ซึ่งเป็นยานอวกาศลำแรกของจีนที่ส่งมนุษย์ไปสถานีอวกาศที่สร้างขึ้นใหม่ เข้าจอดที่จุดเชื่อมกับยานโมดุลหลักเมื่อคืนวันพฤหัสบดี และนักบินอวกาศทั้งสามคนเตรียมเริ่มภารกิจติดตั้งสถานีอวกาศของจีนในวงโคจรรอบโลกแล้ว
ยานอวกาศเสินโจว-12 เดินทางออกจากโลกเมื่อวันพฤหัสบดี จากศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิวกวน มณฑลกานซู ทางตะวันตกเฉียงเหนือ โดยมีนักบินอวกาศสามคนเดินทางไปด้วย ได้แก่ เนี่ย ไห่เซิ่ง (Nie Haisheng) และ หลิว โป๋หมิง (Liu Boming) ผู้เคยเดินทางไปกับโครงการด้านอวกาศของจีนมาแล้วก่อนหน้านี้ และ ตั้ง ฮ่องโป (Tang Hongbo) ผู้เข้าร่วมเดินทางในภารกิจด้านอวกาศของจีนเป็นครั้งแรก
นักบินอวกาศทั้งสามคนจะใช้เวลาหกเดือนข้างหน้าบนยานโมดุลหลัก “เทียนเหอ” ของสถานีอวกาศ “เทียนกง” ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เพื่อช่วยประกอบและติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมทั้งทดสอบชิ้นส่วนต่าง ๆ ก่อนที่สถานีอวกาศนี้จะสามารถใช้งานจริงในปีหน้า และคาดว่าจะโคจรอยู่รอบโลกเป็นเวลา 10 ปี
เมื่อเดือนเมษายน จีนส่งชิ้นส่วนหลักของสถานีอวกาศเทียนกงไปพร้อมกับจรวดลองมาร์ช 5B ซึ่งถือเป็นขั้นตอนแรกของปฏิบัติการ 11 ขั้น เพื่อส่งมนุษย์ไปประจำการบนสถานีอวกาศถาวรของจีนในวงโคจรรอบโลก
ชิ้นส่วนหลักที่มีชื่อว่า “เทียนเหอ” คือส่วนที่นักบินอวกาศจะไปใช้ชีวิตอยู่คราวละ 6 เดือน โดยหลังจากนี้จีนจะส่งจรวดบรรทุกชิ้นส่วนหลักไปอีก 2 ลำเพื่อนำไปประกอบในอวกาศ ตามด้วยการส่งสัมภาระและอุปกรณ์ต่าง ๆ อีก 4 ครั้ง และส่งนักบินอวกาศขึ้นไปอีก 4 ครั้ง รวมทั้งหมด 11 ครั้ง
เมื่อภารกิจนี้เสร็จสิ้น สถานีอวกาศ “เทียนกง” ของจีนจะกลายเป็นสถานีอวกาศลำที่สองที่อยู่ในวงโคจรรอบโลกในปัจจุบัน ต่อจากสถานีอวกาศระหว่างประเทศ หรือ ISS ที่เป็นโครงการความร่วมมือของสหรัฐฯ รัสเซีย แคนาดา ยุโรป และญี่ปุ่น
จีนเริ่มโครงการสถานีอวกาศเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว หลังจากที่ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าร่วมในโครงการสถานีอวกาศระหว่างประเทศเนื่องจากเสียงคัดค้านของสหรัฐฯ จนกระทั่งเมื่อปี ค.ศ.2003 จีนกลายเป็นประเทศที่สามต่อจากสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต ที่สามารถส่งมนุษย์ขึ้นไปบนอวกาศได้สำเร็จ