Your browser doesn’t support HTML5
ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน หันมาพึ่งแสงไฟจากโทรศัพท์สมาร์ทโฟน และ เจ้าของร้านต่างๆ เริ่มใช้เครื่องปั่นไฟเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง ขณะที่ทางการหลายแห่งของประเทศเริ่มดำเนินมาตรการตัดไฟในวันพุธ ตามเป้าหมายการประหยัดพลังงานและแก้ปัญหาขาดแคลนในบางพื้นที่ ตามรายงานของสำนักข่าว เอพี
รายงานข่าวในจีน ระบุว่า ราคาถ่านหินที่พุ่งสูงคือ เหตุผลหลักที่ทำให้บริษัทพลังงานทั้งหลายไม่กล้าเร่งทำการผลิตไฟเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน ขณะที่ นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า ประเด็นหลักนั้นคือ เรื่องของการเมือง เพราะเจ้าหน้าที่รัฐถูกกดดันให้ปรับลดการใช้พลังงาน เพื่อให้บรรลุเป้าที่รัฐบาลตั้งไว้
ในเวลานี้ โรงงานต่างๆ ในมณฑลที่เป็นพื้นที่ตั้งของอุตสาหกรรมการผลิตอันดับต้นๆ ของประเทศได้รับคำสั่งให้ระงับสายการผลิตเป็นเวลา 1 สัปดาห์กันแล้ว ทำให้เกิดความกังวลว่าอาจนำไปสู่ปัญหาอุปทานโทรศัพท์สมาร์ทโฟนและสินค้าอื่นๆ ที่ต้องนำป้อนตลาดโลกได้
นอกจากนั้น พื้นที่ในเขตเมืองทั้งหลายต้องตกอยู่ในภาวะไม่มีไฟฟ้าใช้ ทำให้ประชาชนต้องออกมาเรียกร้องผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาดังกล่าวโดยด่วน
ทั้งนี้ การบริโภคพลังงานของจีนพุ่งสูงในอัตราเกือบเท่าตัวจากระดับปกติ ขณะที่ พรรคคอมมิวนิสต์จีน พยายามลดปริมาณพลังงานที่ใช้ประเทศอยู่
มาตรการตัดไฟของจีนนี้เกิดขึ้น ก่อนที่ผู้นำทั่วโลกจะเข้าร่วมการประชุมด้านสิ่งแวดล้อมที่จัดโดยองค์การสหประชาชาติ ผ่านระบบวิดีโอลิงค์ ระหว่างวันที่ 12 ถึง 13 ตุลาคม ที่เมืองคุนหมิง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งเป็นประเด็นกดดันรัฐบาลประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ในฐานะเจ้าภาพ ที่จะต้องแสดงให้เห็นถึงความสามารถและความพยายามของจีนในการเดินหน้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการมุ่งหน้าให้ถึงเป้าประสิทธิภาพพลังงาน
ลารา ดง นักวิเคราะห์จาก IHS Market ให้ความเห็นผ่านทางอีเมล์ที่ส่งให้กับสำนักข่าว เอพี ว่า นโยบายตัดไฟของจีนนั้นเป็นไปตามแผนงานกำจัดคาร์บอนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลจนเหลือศูนย์ของรัฐบาลกรุงปักกิ่ง
เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หน่วยงานดูแลด้านแผนพลังงานของคณะรัฐมนตรีจีน เตือนว่า การใช้พลังงานและการก่อมลพิษในพื้นที่ 20 เขตของประเทศนั้นเกินกว่าเป้าที่รัฐวางไว้แล้ว หลังภาคการผลิตกลับมาเปิดทำการอีกครั้ง ทันทีที่ภาวะระบาดใหญ่ของโควิด-19 คลี่คลายลง
ธนาคาร Bank of America ระบุในรายงานของตนว่า แผนการตัดไฟของจีน “อาจนำมาซึ่งผลกระทบที่รุนแรงกว่าเมื่อครั้งเกิดปัญหาขาดแคลนพลังงานครั้งก่อน” และว่า “การผ่อนคลายเป้าหมายการบริโภคพลังงานของรัฐบาลนั้น ยังไม่น่าจะช่วยคลี่คลายภาวะตึงตัวในการผลิตพลังงานได้ในทันที” ด้วย
จีน เป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลก และมีอัตราการบริโภคพลังงานต่อหน่วยผลผลิตทางเศรษฐกิจมากกว่าประเทศพัฒนาแล้วทั้งหมดด้วย